อัณฑะไม่ลงถุงในเด็ก กับอัณฑะไม่มีฮอร์โมนในผู้ใหญ่ทำไมต้องรักษา

อัณฑะไม่ลงถุงในเด็ก กับอัณฑะไม่มีฮอร์โมนในผู้ใหญ่ทำไมต้องรักษา

ภาวะอัณฑะไม่ลงถุงในเด็กเพิ่มโอกาสต่อการเป็นมะเร็งอัณฑะในอนาคต โตขึ้นจะมีบุตรยาก หรืออาจจะเป็นหมัน หรือไส้เลื่อนได้ เมื่อโตขึ้นอาจมีภาวะฮอร์โมนเพศชายบกพร่อง และเมื่อผู้ชายมีฮอร์โมนลดลง ความต้องการทางเพศจะลดลงด้วย

จากการรายงานทั่วไปเด็กผู้ชายที่คลอดครบกำหนด 9 เดือน มีโอกาสภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุง 1-4 เปอร์เซ็นต์ หากคลอดก่อนกำหนดอยู่ในท้อง ไม่ถึง 7 เดือน โอกาสที่เกิดภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุง ขึ้นไปถึง 10-40 เปอร์เซ็นต์ ควรได้รับการผ่าตัดแก้ไขภายใน 1 ขวบ หากแก้ไขหลังจากนี้จะมีโอกาสที่จะมีผลเสียถาวรตามมาได้

อัณฑะไม่ลงถุงคืออะไร?
ภาวะที่อัณฑะอยู่สูงกว่าจุดกึ่งกลางของถุงอัณฑะ เช่น อยู่เหนือบริเวณรอยต่อถุงอัณฑะ ขาหนีบ หรือในช่องท้อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแต่กำเนิด และส่วนน้อยเป็นภายหลัง และหากอยู่บริเวณช่องท้องจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งสูงสุด เสี่ยงต่อการมีบุตรยากมากที่สุด

ภาวะพร่องฮอร์โมนในเพศชายคืออะไร?
กลุ่มอาการซึ่งประกอบไปด้วยอาการหลายอย่าง แต่อาการเหล่านี้เกิดจากฮอร์โมนเพศชายในเลือดต่ำกว่าปกติ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและมีผลต่ออวัยวะหลายระบบ บางการศึกษาพบภาวะนี้สูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ในผู้ชายอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

อัณฑะไม่ลงถุงมีผลเสียอย่างไร?
เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอัณฑะบิดขั้ว เกิดไส้เลื่อนขาหนีบ การบาดเจ็บของอัณฑะ การมีบุตรยาก การเป็นมะเร็งอัณฑะ และภาวะฮอร์โมนเพศชายบกพร่อง

สาเหตุของอัณฑะไม่ลงถุงมีอะไรบ้าง?
สาเหตุแบ่งเป็นในกลุ่มที่เป็นความผิดปกติทางด้านฮอร์โมน คุณแม่ตั้งท้องแล้วได้รับสารฮอร์โมนที่ไปรบกวนต่อการทำงานฮอร์โมนเพศชายของลูก ซึ่งอาจจะเป็นยาฆ่าแมลงหรืออาหารบางอย่าง อาหารไม่สด หรือยาบางตัว ที่ไปรบกวนฮอร์โมนของแม่และเด็ก หรือเป็นความผิดปกติของเส้นประสาทเองที่ไปเลี้ยงบริเวณลูกอัณฑะ ความผิดปกติของส่วนอื่นในร่างกายเช่นผนังหน้าท้องหย่อนยานแต่กำเนิด ทำให้แรงดันในท้องต่ำ ทำให้ไม่สามารถดันลูกอัณฑะลงมาได้

ผลเสียของภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายในผู้ใหญ่มีอะไรบ้าง?
เมื่อไหร่ก็ตามที่เข้าสู่ภาวะพร่องออร์โมนเพศชาย หรือเรียกว่าผู้ชายวัยทอง เมื่อเข้าสู่ภาวะนี้จะมีผลต่างๆตามมา คือ การสร้างกล้ามเนื้อลดลง ระบบเผาผลาญไขมันลดลง ทำให้อ้วนลงพุง ความแข็งแรงของกระดูกลดลง ระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ เช่น ความต้องการทางเพศ ความแข็งตัวของอวัยวะเพศลดลง ทั้งหมดส่งผลให้สุขภาพจิตแย่ลงด้วย

ผู้ชายพร่องฮอร์โมนเพศจะมีอาการอย่างไร?
ไม่กระฉับกระเฉง โมโหง่าย นอนไม่หลับ ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน อ้วนลงพุง ร้อนวูบวาบ ความต้องการทางเพศลดลง อวัยวะเพศแข็งตัวไม่เต็มที่ ขาดความมั่นใจ

อัณฑะไม่ลงถุงในเด็กจะมีอาการอย่างไร?
– ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ
– อาจร่วมกับความผิดปกติขององคชาต พบประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์
– อาจมาด้วยอาการปวดท้อง หรือขาหนีบ จากอัณฑะบิดขั้ว
– อาจมีอาการก้อนผลุบโผล่ที่ขาหนีบ
– อาจมาตรวจด้วยภาวะมีบุตรยาก

การวินิจฉัยภาวะอัณฑะไม่ลงถุงในเด็กคือ
– ซักประวัติความเสี่ยงต่ออัณฑะไม่ลงถุง
– ตรวจร่างกาย หากไม่แน่ใจอาจส่งตรวจอัลตราซาวด์ (กรณีมีข้อบ่งชี้)
– การส่องกล้องช่องท้อง (กรณีมีข้อบ่งชี้)

ข้อบ่งชี้ในการตรวจอัลตราซาวด์ขาหนีบและถุงอัณฑะ
– สงสัยเนื้องอกของอัณฑะ
– เด็กอ้วนมาก
– เด็กไม่ร่วมมือในการตรวจ
– เคยได้รับการผ่าตัดบริเวณที่ขาหนีบหรือถุงอัณฑะมากก่อน

ข้อบ่งชี้ในการส่องกล้องตรวจช่องท้อง
– ตรวจร่างกายในขณะดมยาสลบแล้วยังไม่พบลูกอัณฑะที่ขาหนีบหรือถุงอัณฑะ

การวินิจฉัยภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายทำอย่างไร?
– ซักประวัติและตรวจร่างกาย
– ทำแบบสอบถามคัดกรอง ถึงความเสี่ยงภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย
– ตรวจเลือดเพื่อวัดระดับออร์โมนเพศชาย (ตรวจ 08.00-11.00 น. โดยไม่ต้องงดน้ำงดอาหารจะทำให้ผลเลือดได้รับความน่าเชื่อถือมากที่สุด)

การรักษาอัณฑะไม่ลงถุงในเด็กทำอย่างไร?
กรณีอัณฑะไม่ลงถุงแต่กำเนิด
– รอได้ถึงอายุ 6-12 เดือน อาจเลื่อนลงมาเอง
– พิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดให้แล้วเสร็จเมื่ออายุ 6-18 เดือน
– การผ่าตัดคือการตรึงอัณฑะให้อยู่ในถุงอัณฑะ
– หากอายุเกิน 13 ปี เข้าสู่วัยรุ่นแล้ว อัณฑะที่ลงถุงอีกข้างปกติ แต่อัณฑะอีกข้างที่ไม่ลงถุงอาจจะมีขนาดเล็กกว่าปกติ แนะนำให้ตัดอัณฑะข้างที่ไม่ลงถุงออก หากเก็บไว้จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งอัณฑะ หมายความว่าหากรักษาอัณฑะไม่ลงถุงได้ก่อนเข้าสู่วัยรุ่น ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งอัณฑะประมาณ 2 เท่า ของคนทั่วไป แต่หากเรารักษาอัณฑะไม่ลงถุงหลังจากที่เข้าสู่วัยรุ่นไปแล้ว ความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งจะประมาณ 5 เท่าของคนทั่วไป และที่สำคัญคือ ไม่มีการรักษาด้วยยา

หากอัณฑะที่ไม่ลงถุงเป็นข้างเดียว และได้รับการรักษาไปแล้ว บุคคลนั้นอาจจะมีบุตรยากกว่าคนทั่วไป แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งบุคคลนั้นก็สามารถที่จะมีบุตรได้ เท่ากับคนทั่วไปที่มีลูกอัณฑะสองข้างในถุง แต่ถ้าเป็นอัณฑะไม่ลงถุง 2 ข้าง (ที่พบประมาณ 10-30 เปอร์เซนต์) ถึงแม้ได้รับการรักษาแล้ว เมื่อติดตามในอนาคต คนกลุ่มนี้จะมีบุตรยากกว่าคนทั่วไป

การรักษาอัณฑะไม่ลงถุง
– อัณฑะไม่ลงถุงชนิดคลำได้ จะทำการผ่าตัดแบบเปิดเพื่อยึดตรึงอัณฑะไว้ในถุงอัณฑะ
– อัณฑะไม่ลงถุงชนิดคลำไม่ได้ จะทำการผ่าตัดแบบส่องกล้องเพื่อยึดตรึงอัณฑะไว้ในถุงอัณฑะ

การรักษาภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายทำอย่างไร?
การรักษาทำโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
– ลดการทำงานที่สร้างความเครียด
– รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ลดอาหารจำพวกไขมัน แป้ง น้ำตาล
– งดบุหรี่ และสุรา
– ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
– พักผ่อนให้เพียงพอ

หากทำสิ่งเหล่านี้ครบ จะสามารถเพิ่มระดับฮอร์โมนโมนในเพศชายขึ้นมาได้ หากหลังจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว อาการต่างๆ ยังไม่ดีขึ้น ก็จะเป็นการรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนทดแทน

การรักษาโดยการใช้ยาออร์โมนทดแทน สิ่งสำคัญคือการสั่งยาจะต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งเท่านั้น ไม่แนะนำให้ไปหาซื้อออร์โมนทดแทนเอง เนื่องจากยาเหล่านี้ต้องให้แพทย์ตรวจดูก่อนว่าผู้ป่วยทุกราย ไม่มีข้อห้ามในการให้ฮอร์โมน เช่น
– ผู้ป่วยโรคหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจขาดเลือด หรือหัวใจวายที่มีน้ำท่วมปอด
– ภาวะเลือดหนืด คือมีความเข้มเข้นเลือดมากกว่าปกติ
– มะเร็งต่อมลูกหมาก
– มะเร็งเต้านมในผู้ชาย

รูปแบบของยาฮอร์โมนทดแทนมีหลายอย่างคือ
แบบฉีด แบบกิน และแบบทา

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: รศ.นพ.พิษณุ มหาวงศ์ และ อ.นพ.จรัสพงศ์ วุฒิวงศ์ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่