วันผู้สูงอายุ

วันที่ 13 เมษายนของทุกปี นอกจากจะเป็นวันสงกรานต์แล้ว ยังถือเป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” และ เนื่องด้วยเป็นเทศกาลแห่งความสุข หลายครอบครัวถือโอกาสนี้กลับบ้านเพื่อเยี่ยมเยียนครอบครัว ได้มีโอกาสอยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้า
“ดอกลำดวน” เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เนื่องจากต้นลำดวนเป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืนยาว ให้ร่มเงา ดอกมีกลิ่นหอม กลีบดอกแข็ง ไม่ร่วงง่าย เปรียบเสมือนดังผู้สูงอายุที่เป็นที่พึ่งพิง ให้ความร่มเย็นกับลูกหลาน ทั้งยังเปรียบเหมือนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ทรงคุณธรรมและคุณงามความดี เป็นแบบอย่างให้กับลูกหลานสืบไป

โอกาสนี้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมีเคล็ดลับในการดูแลผู้สูงอายุมาแบ่งปัน เพื่อให้ทุกท่านมีความสุขกาย สบายใจ สุขภาพแข็งแรง อยู่กับลูกหลานอย่างมีความสุข

1. อาหารการกิน มักเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้สูงอายุ เนื่องด้วยสุขภาพในช่องปากและฟัน รวมทั้งระบบย่อยอาหารที่ทำงานได้น้อยลง ทำให้หลายท่านไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ จึงควรพาผู้สูงอายุไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน – 1 ปี เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก ทำฟันเทียม เลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายและครบทั้ง 5 หมู่ อาหารที่กินมีความสด สะอาด นอกจากนี้ ถ้าหากผู้สูงอายุมีภาวะกลืนลำบาก ควรพาไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและวิธีการรักษาที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับปริมาณสารอาหารที่เพียงพอ
2. ออกกำลังกายฉบับผู้สูงวัย ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับผู้สูงวัยได้ ควรเน้นการออกกำลังกายเพื่อฝึกการทรงตัวให้กับผู้สูงวัย และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ อาจเริ่มจากการออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินเร็ว อย่างน้อยวันละ 15 – 20 นาที รวมกันให้ได้อย่างน้อย 150 นาที ต่อสัปดาห์
3. ระวังการล้ม เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีปัญหาเรื่องการทรงตัว ทำให้มีความเสี่ยงต่อการล้มได้ง่าย ร่วมกับผู้สูงอายุมักจะมีกระดูกบางหรือกระดูกพรุน การล้มจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักในผู้สูงวัยได้ หากผู้สูงอายุเริ่มมีปัญหาเรื่องการทรงตัว ควรใช้อุปกรณ์ช่วยในการเดิน เช่น ไม้เท้า walker เพื่อเพิ่มความมั่นคงขณะยืนเดิน และลดความเสี่ยงในการล้ม
4. บ้านและสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้สูงวัย ควรปรับสภาพบ้านให้เหมาะสม เช่น หลีกเลี่ยงการใช้พรมที่ลื่น หากจำเป็นควรใช้เป็นพรมที่มีที่กันลื่น ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอไม่ให้มีสิ่งของวางเกะกะบนพื้น ถ้าหากบ้านไหนมีสัตว์เลี้ยงในบ้าน ควรระมัดระวัง เนื่องจากผู้สูงอายุอาจเดินสะดุด สัตว์เลี้ยงกระโดดใส่ผู้สูงอายุจนล้มได้ ใช้กระเบื้องหรือพื้นแบบกันลื่นในห้องน้ำหรือส่วนที่เปียก แยกส่วนเปียกส่วนแห้งในห้องน้ำ มีราวจับที่โถส้วม หรืออ่างล้างหน้า มีเก้าอี้กันลื่นให้ผู้สูงอายุใช้นั่งอาบน้ำ
5. ความใกล้ชิด ความอบอุ่นของสมาชิกในบ้าน หมั่นไปเยี่ยมเยียน โทรหา พูดคุย ใช้เวลากับผู้สูงอายุที่บ้านให้มากขึ้น เพื่อลดภาวะความเครียด หรือภาวะซึมเศร้าที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ อาจหากิจกรรมอื่นทำร่วมกันให้มากขึ้น
6. พบแพทย์และรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนมากมักมีโรคประจำตัว และต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ดังนั้นควรดูแลเรื่องการรับประทานยาให้ถูกต้องครบถ้วน และพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

ถ้าหากเราสามารถปฏิบัติตามสิ่งเหล่านี้ ซึ่งแสดงถึงความรัก ความเอาใจใส่ต่อผู้สูงอายุที่บ้านแล้วนั้น ก็จะทำให้ผู้สูงอายุอยู่กับเราได้อย่างมีความสุข สดใส สุขภาพกายและใจแข็งแรงสมวัย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : อาจารย์.นพ.พิชญ์ หรรษาศิริพจน์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูประจำศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มช.

เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่