จักษุแพทย์ มช.เตือน ระวังต้อหิน ภัยเงียบเสี่ยงตาบอดถาวร

ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. เตือนประชาชนระวังโรคต้อหิน ภัยเงียบที่อาจจะทำให้ตาบอดถาวร แนะ! ควรตรวจตา อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

รศ.นพ.ดิเรก ผาติกุลศิลา หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมทุกๆ ปี เป็นสัปดาห์ต้อหินโลก เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงโรคต้อหิน และหันมาดูแลดวงตามากขึ้น ซึ่งโรคต้อหินเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้ตาบอดถาวร เกิดจากความผิดปกติบริเวณขั้วประสาทตา ทำให้สูญเสียลานตาและการมองเห็น แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเริ่มแรก ระยะปานกลาง และระยะรุนแรง ผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อหินในระยะแรกและระยะปานกลาง อาจไม่แสดงอาการ แต่หากไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองและรักษาอาจทำให้ตาบอดถาวรได้
จากสถิติผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ พบว่า ในปี 2566 มีผู้ป่วยโรคต้อหิน จำนวน 3,304 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยนอก จำนวน 2,839 ราย ผู้ป่วยใน 465 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยต้อหินชนิดเรื้อรัง และมักจะมาด้วยอาการปวดตา และอาการตามัว ซึ่งมักเป็นระยะรุนแรงแล้ว กลุ่มเสี่ยงที่มักจะพบบ่อย ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ทานยาสเตียรอยด์ ผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นโรคต้อหิน ผู้ที่มีความดันลูกตาสูงกว่าค่ามาตรฐาน นอกจากนี้ยังพบในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และผู้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวมาก ๆ รวมถึงผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป

หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากต้อหินเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่หากได้รับการรักษาในระยะแรกก็จะลดความเสี่ยงตาบอดถาวรได้ โดยแพทย์มักจะเริ่มต้นการรักษาด้วยยาหยอดตา หรือเลเซอร์ในต้อหินบางชนิด หากไม่สามารถควบคุมโรคได้ จะรักษาด้วยการผ่าตัดตามลำดับ ดังนั้นการป้องกันตาบอดจากต้อหินที่ดีที่สุดคือการตรวจคัดกรอง เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปหรือมีความเสี่ยง ควรคัดกรองโรคต้อหินอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ไม่ควรรอให้ตามัวแล้วจึงมาตรวจ เพราะอาจจะสายเกินไปและทำให้ตาบอดถาวรได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.นพ.ดิเรก ผาติกุลศิลา หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช.
นางสาวสมัชญา หน่อหล้า รายงาน
ภาพ/ข่าว: กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มช.