วันไตโลก (World Kidney Day)

วันไตโลก (World Kidney Day)

วันไตโลก ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 14 มีนาคม 2567 สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้กำหนดประเด็นรณรงค์ ภายใต้คำขวัญที่ว่า “ครอบคลุมทุกสิทธิ์ พิชิตโรคไต ใส่ใจการใช้ยา” เนื่องด้วยปัจจุบัน มียา มีการตรวจรักษา ที่พบว่า สามารถป้องกัน ชะลอหรือหยุด การเสื่อมของโรคไตได้มากมายหลายชนิด แต่ยังพบว่า ปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของประชากรโลก ยังทำให้มีปัญหาความไม่เท่าเทียมในการ เข้าถึงยาและการดูแลรักษาต่างๆ นั้นอยู่ จึงเป็นที่มาของคำขวัญการรณรงค์วันไตโลก ประจำปีนี้
ไตเป็นอวัยวะคู่ ที่มีขนาดประมาณเท่ากำปั้นของเจ้าของ รูปร่างคล้ายเม็ดถั่วแดง อยู่บริเวณบั้นเอว 2 ข้าง มีหน้าที่ผลิตน้ำปัสสาวะ ช่วยขับน้ำส่วนเกินและของเสียที่ระบายน้ำได้ออกจากร่างกาย ทั้งยังช่วยในการรักษาความสมดุล ความปกติของสารน้ำและเกลือแร่ ความเป็นกรดด่างของร่างกายด้วย นอกจากนี้ ไตยังมีหน้าที่ในการสร้างสารที่ควบคุมความดันโลหิต และสารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงที่ไขกระดูก ดังนั้นเมื่อไตทำงานน้อยลง มักเกิดปัญหาความดันโลหิตสูงและโลหิตจางร่วมด้วย นอกจากนั้นไตยังทำหน้าที่เกี่ยวกับฮอร์โมน ผลิตเปลี่ยนฮอร์โมนวิตามิน D ให้เป็น Active Form ที่สามารถนำไปใช้งานได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต ผู้ป่วยจะขาดวิตามิน D มีผลกระทบต่อกระดูก และโครงสร้างของกระดูกต่างๆ รวมถึงในเรื่องของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้อง
อุบัติการณ์ของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง พบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในผู้ใหญ่พบ ผู้หญิง 14 เปอร์เซ็นต์ และผู้ชาย 12 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ เป็นโรคไตเรื้อรังอยู่ ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ ดังนั้นการป้องกันเพื่อไม่ให้โรคไตเกิดขึ้นกับตัวเราจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

🔹เมื่อพูดถึงโรคไต เราสามารถแบ่งคนได้ 3 กลุ่มด้วยกัน คือ

1.กลุ่มที่ไม่มีโรคไต
2.กลุ่มโรคไตเฉียบพลัน
3.กลุ่มโรคไตเรื้อรัง
เพราะฉะนั้นสิ่งที่บ่งบอกถึงอาการของโรคไตว่าอยู่ในกลุ่มใด สามารถตรวจสอบได้จากการทำงานของไตที่ลดลงอย่างรวดเร็วหรือไม่ การสร้างน้ำปัสสาวะน้อยลงไหม ของเสียที่อยู่ในกระแสโลหิตที่ควรจะขับออกทางปัสสาวะลดลงไหม ซึ่งการคั่งในร่างกาย สามารถตรวจพบโดยการตรวจวัดปริมาณปัสสาวะที่ออกมา และระดับค่าของเสียดังกล่าวในเลือดก็สามารถทราบถึง ความรุนแรงการทำงานของไตที่ลดลง รุนแรง รวดเร็ว มากน้อยอย่างไร จึงทำให้สามารถบอก ภาวะและระดับความรุนแรงของโรคไตได้ เพื่อพยากรณ์โรค และ วางแผนการดูแลรักษา ต่อไป

🔹อาการของโรคไต

– ปัสสาวะลดลง
– มีอาการบวม หลังเท้า ข้อเท้า หน้าแข้งแบบกดบุ๋ม
– บวมบริเวณของหน้า
– น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
– ความดันโลหิตสูงขึ้น
– หายใจเร็ว หอบ นอนราบไม่ได้
– อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ขาดสมาธิ
– ปัสสาวะมีสีเข้ม กลิ่นผิดปกติ
หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเร่งทำการตรวจรักษา

🔹สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง

อันดับ 1 มาจากผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน
อันดับที่ 2 ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
อันดับที่ 3 ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตอักเสบ จากสาเหตุต่างๆ

🔹แนวทางการรักษา

โดยประเมินการทำงานของไต แบ่งระยะของโรคไตเรื้อรังเป็น 5 ระยะ โดยประมาณเป็นเปอร์เซ็นต์จากค่าอัตราการกรองของไต estimated glomerular filtration (eGFR) จากการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ คือ
1. ระยะที่ 1 ไตทำงานมากกว่าหรือเท่ากับ 90 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่า “การทำงานของไตปกติ”
2. ระยะที่ 2 “ไตเสื่อมเล็กน้อย” ทำงานเหลือ 60-89 เปอร์เซ็นต์ ให้มีการเริ่มประเมิน และชะลอการเสื่อมของโรคไตเรื้อรัง
3. ระยะที่ 3 “ไตเสื่อมปานกลาง” เหลือ 30-59 เปอร์เซ็นต์ จะต้องเพิ่มการดูแลภาวะแทรกซ้อนของไต และต้องระวังในเรื่องของโรคหัวใจที่จะเป็นภาวะแทรกซ้อนและทำให้ผู้ป่วยโรคไตเสียชีวิตได้มาก
4. ระยะที่ 4 “ไตเสื่อมรุนแรง” การทำงานเหลือ 15- 29 เปอร์เซ็นต์ ต้องวางแผนการทำบำบัดทดแทนไต จะเลือกการฟอกไต ว่าจะฟอกเลือดด้วยเครื่องฟอกไตเทียม การฟอกไตทางหน้าท้อง หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
5. ระยะที่ 5 “ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย” ที่ไตทำงานเหลือน้อยกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ แพทย์จะเริ่มกระบวนการบำบัดทดแทนไต หากผู้ป่วยที่เป็นในระยะสุดท้ายแล้วไม่ปรารถนาจะรับการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตดังกล่าวข้างต้น ก็สามารถที่จะรับการรักษาด้วยวิธีบำบัดแบบประคับประคองต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนอาจจะเกิดขึ้นตลอดเวลาในระหว่างที่ผู้ป่วยยังดำเนินชีวิตอยู่ บางรายอาจจะทำให้กระโดดข้ามขั้นเป็นระยะสุดท้าย หรือบางรายอาจถึงแก่กรรมได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากจะเน้นถึง คือการดูแลรักษา รวมถึงการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยไตเรื้อรังมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด จะมีความเสี่ยงสูง เกิดโรครุนแรงได้ง่าย ในบางรายผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาโรคอื่นอยู่ แต่รับยาที่มีผลกระทบต่อการทำงานของไต ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนการทำงานของไตแย่ลงและเกิดอันตรายต่อไตได้

🔹การป้องกัน

1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ไม่ให้น้ำตาลในเลือดสูง
2. ไม่ซื้อยาทานเอง ยาชุด ยาหม้อ ยาสมุนไพร หรือทานยารักษาโรคที่ใช้ยาในปริมาณมากและนาน
3. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
4. ควบคุมน้ำหนักตัว
5. ควบคุมความดันให้ปกติ
6. ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ
7. งดสูบบุหรี่
8. รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ถูกหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม เปรี้ยว ของเผ็ด ของดอง
9. ไม่ทานอาหารที่มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากเกินไป
10. พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงความเครียด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:
อ.นพ.ดิเรก บรรณจักร์
อาจารย์พิเศษหน่วยวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่