เพราะทุกวินาทีมีค่าต่อทุกชีวิต… โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เดินหน้าภารกิจ Sky Doctor

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ เดินหน้าภารกิจ Sky Doctor ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกล มุ่งลดระยะเวลารับส่งผู้ป่วยภาวะวิกฤต ถึงมือแพทย์ได้อย่างทันท่วงที เผยผลการดำเนินการที่ผ่านมา สามารถช่วยผู้ป่วยฯ ในพื้นที่รับผิดชอบทั่วภาคเหนือแล้วกว่า 500 ราย เป็นสถิติสูงที่สุดในประเทศ

รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า “พื้นที่ทางภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นภูเขาสูง ทำให้การเดินทางระหว่างอำเภอหรือระหว่างจังหวัดค่อนข้างยากลำบาก ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากกว่าเส้นทางปกติ เช่นเดียวกับกรณีการส่งต่อผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินจากโรงพยาบาลที่มีศักยภาพไม่มากนักในพื้นที่ห่างไกล มาสู่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าในตัวเมืองมักจะประสบปัญหา เพราะปกติการใช้รถยนต์รับส่งผู้ป่วยจะใช้เวลานานมาก บางพื้นที่ เช่น อำเภออมก๋อย หากจะเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่อาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง ส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มีโอกาสเกิดภาวะวิกฤต เกิดความพิการ หรือบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการนำอากาศยานมาใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกลดังกล่าว ภายใต้โครงการ “Sky Doctor” ซึ่งจากการใช้อากาศยานรับส่งผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล สามารถช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้มาก จากปกติ 5 ชั่วโมง จะเหลือเพียงประมาณ 45 นาที – 1 ชั่วโมง เท่านั้น
โครงการ Sky Doctor ในระยะแรกเกิดขึ้นจากการจุดประกายของคนกลุ่มเล็ก ๆ ในพื้นที่ทุรกันดารที่มีความยากลำบากในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อประสานงานส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินมารักษายังโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และโรงพยาบาลใหญ่ในเขตเมืองเชียงใหม่ ต่อมามีการขยายความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยความร่วมมือของทีมงานโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ รวมไปถึงหน่วยงานที่เป็นเจ้าของอากาศยาน และความร่วมมือภาคส่วนต่างๆ ร่วมผนึกกำลังกันเพื่อตอบสนองความเร่งรีบในการดูแลและส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน ช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงได้ทันเวลา เพิ่มโอกาสในการรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้มากขึ้น ทำให้ Sky Doctor สามารถดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบันนี้ จึงขอขอบคุณหน่วยงานราชการที่ร่วมเป็นส่วนสำคัญในการลำเลียงทางอากาศ ได้แก่
1. หน่วยปฏิบัติการ ฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศโรงพยาบาลนครพิงค์
2. หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศโรงพยาบาลศรีสังวาลย์
3. หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศโรงพยาบาลแม่สะเรียง
4. หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
5. โรงพยาบาลต้นทางและโรงพยาบาลปลายทางที่เกี่ยวข้อง
6. ศูนย์อำนวยการทางการแพทย์ขั้นสูงจังหวัดเชียงใหม่(ศูนย์เวียงพิงค์)
7. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกองกำลังผาเมือง
8. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
9. กองบิน41
10.กองกำลังผาเมือง
11.หน่วยบินตำรวจ เชียงใหม่
12.หน่วยเฉพาะกิจสิงหนาท (แม่ฮ่องสอน)
13.หน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก (เชียงราย) ที่ทำให้การบินนี้ เกิดขึ้นได้อย่างราบรื่นจนถึงทุกวันนี้”

ด้าน อ.นพ.บุญฤทธิ์ คำทิพย์ อาจารย์พิเศษภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า “ภารกิจการทำงานของ Sky Doctor แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.การส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล จากโรงพยาบาลที่มีศักยภาพดูแลรักษาเบื้องต้น ส่งไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า อาทิ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลประสาท 2.การใช้อากาศยาน (เฮลิคอปเตอร์) ไปรับผู้ป่วยถึงในพื้นที่ห่างไกลโดยตรง ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์จะได้รับความช่วยเหลือ ได้แก่ ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องการได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนทันท่วงที หรือมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต เป็นต้น
Sky Doctor ประกอบไปด้วยส่วนหลักๆ คือ ทีมแพทย์ พยาบาล และนักปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ ซึ่งทุกฝ่ายล้วนผ่านมาตรฐานการอบรมการดูแลผู้ป่วยทางอากาศ และมีการฝึกซ้อมการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับอากาศยานมาเป็นอย่างดี สำหรับกระบวนการทำงานเมื่อได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือผู้ป่วยทางอากาศยาน เริ่มจากเมื่อมีกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน 1669 จะประสานมายังศูนย์ประสานงานของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จากนั้นศูนย์ฯ จะแจ้งไปยังทีมแพทย์อำนวยการบิน ซึ่งอยู่ประจำการทุกวัน โดยทีมแพทย์ฯ จะเป็นผู้ประเมินอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยแต่ละรายว่ามีความจำเป็นต้องส่งต่อผ่าน Sky Doctor หรือไม่
หากแพทย์ประเมินแล้วว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน ทีม Sky Doctor จะออกปฏิบัติภารกิจทันที โดยมีทีมแพทย์ พยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมในการดูแลผู้ป่วยบนอากาศยาน บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง และนักบินจะทำการบินไปรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลต้นทาง เพื่อส่งต่อผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลนครพิงค์ หรือโรงพยาบาลในพื้นที่ ขึ้นอยู่กับว่าโรงพยาบาลใดมีศักยภาพในการรับผู้ป่วยในช่วงดังกล่าว
ทั้งนี้ ในเขตสุขภาพที่ 1 ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง เป็นพื้นที่ที่มีการใช้บริการ Sky Doctor สูงที่สุดในประเทศ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจ รองลงมาเป็นผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ โรคหลอดเลือดสมอง และเด็กแรกเกิดที่มีความจำเป็นต้องส่งตัวมารักษาที่ ICU โดยการดำเนินโครงการฯ ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยานทั่วภาคเหนือตลอด 13 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยไปแล้วกว่า 500 ราย นับเป็นสถิติที่สูงที่สุดในประเทศไทย”

เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่