รู้ทัน รู้ป้องกัน ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด

smartsmile New copy

รู้ทัน รู้ป้องกัน ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด

โดย .. อ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ 

          ในชีวิตประจำวันเราย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอแสงแดด โดยเฉพาะอากาศที่ร้อนจัด    ย่อมส่งผลต่อการปรับสภาพของร่างกาย ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด  ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือการดูแลและปกป้องร่างกาย หากอยู่ในสภาวะฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด

โรคฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดดเกิดจากอะไร

เกิดจากอุณหภูมิของร่างกายเราสูงมากจนเกินไป ไม่สามารถที่จะขับอุณหภูมิออกได้  แล้วมีลักษณะอาการเหมือนจะเป็นลม คือมีอาการวิงเวียนเป็นหลัก สาเหตุเนื่องจากร่างกายเราถูกแสงแดดมากเกินไป หรืออยู่ในที่อากาศร้อนอบอ้าว  ร่างกายไม่สามารถที่จะถ่ายเทอากาศออกได้ และทำให้ความร้อนในร่างกายไม่สามารถที่จะระเหยออกไปได้  เมื่อร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงมากจนเกินไป  โดยอาจจะเกิดจากสถานที่ร้อน หรือออกกำลังกายมากเกินไป  ทำให้กล้ามเนื้อสร้างความร้อนมาก ก็อาจทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ร่างกายรับไม่ไหว จึงเกิดปฏิกิริยาการตอบสนอง การหายใจล้มเหลวได้

สัญญาณเตือนการเป็นโรคลมแดด

  1. ผู้ป่วยมีอาการกระหายน้ำมาก ร่างกายเราจะขาดน้ำเพราะอุณหภูมิสูงเกินไป
  2. มีอาการเวียนศีรษะ มองอะไรแล้ว งงๆ มึนๆ
  3. สังเกตเหงื่อของคนไข้ จะแห้ง ผิวแห้ง แล้วมีการระเหยของน้ำหมด ทำให้ระบบประสาททำงานไม่ปกติ

บุคคลใดบ้างที่มีความเสี่ยงต่อโรคลมแดด

  1. กลุ่มอายุ

ได้แก่เด็กและผู้สูงวัย

  1. กลุ่มที่มีโรคประจำตัว

กลุ่มความดันโลหิตสูงที่รับประทานยาบางชนิด เช่นยาขับน้ำปัสสาวะ บางรายที่มีความดันโลหิตสูงจะต้องกินยาลดความดันหลายตัว บางรายกินยาลดความดันที่เป็นยาขับปัสสาวะร่วมด้วย ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคลมแดดมากขึ้นเพราะว่าน้ำไม่เพียงพอ

  1. กลุ่มที่ออกกำลังกาย

บางรายที่ออกกำลังกายมากเกินไป และอยู่ในที่โล่งแจ้งถูกแสงแดด

  1. กลุ่มที่เป็นนักกีฬา

มักจะออกกำลังกาย ในพื้นที่ปลอดอากาศ ไม่มีที่ระบายของอากาศ และอุณหภูมิไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคลมแดดได้มากขึ้น

 

อุณหภูมิในร่างกายที่สูงขึ้น ต้องอยู่ในระยะเวลากี่นาทีในร่างกาย ที่อาจทำให้เกิดโรคลมแดดได้

โดยปกติร่างกายเรา จะมีระบบสมองที่คอยควบคุมให้ร่ายกายของเราไม่ให้มีอุณหภูมิที่สูงมากจนเกินไป ซึ่งร่างกายปกติจุอยู่ในปริมาณ 37.5  องศา  ถึงแม้ว่าอุณหภูมิภายนอก จะหนาวมากหรือร้อนมากก็ตาม สมองเราจะสั่งร่างกายทันที  ให้มีการปรับอุณหภูมิให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ให้เหมาะกับตัวเรา  หากร่างกายปรับได้ไม่ทัน จะมีอาการทางระบบประสาท  ไม่ว่าจะนานเท่าไหร่ก็ตามก็สามารถเกิดฮีทสโตรกได้

เกณฑ์การวินิจฉัย

  1. อุณหภูมิเป็นหลัก ไม่ขึ้นกับระยะเวลา
  2. ระบบประสาทที่ผิดปกติไป เช่นอาการวิงเวียนศีรษะ และบางคนมีอาการรุนแรง เกิดอาการชักกระตุกกล้ามเนื้อเกร็งเนื่องจากกล้ามเนื้อจะเสียสมดุลเกิดขึ้น แล้วถ้าหากยังไม่ได้รับการรักษา อย่างทันท่วงที ไม่เพียงแต่สมองที่ทำให้เกิดลักษณะของอาการชักกระตุกเท่านั้น แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ เซลล์ในร่างกายต่างๆซึ่งปกติใช้อุณหภูมิในการที่จะคงระดับเซลล์ ก็จะสูญเสียไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ระบบการหายใจล้มเหลว หายใจถี่ขึ้นและล้มเหลวในที่สุด บางรายอาจต้องนอนห้อง ICU  ใส่เครื่องช่วยหายใจ หากเป็นผู้ป่วยโรคไตอาจทำให้เกิดไตวายได้   ผู้ป่วยฮีทสโตรกเป็นภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง ต้องระวังเป็นอย่างมาก ทำให้อัตราการเสียชีวิต และหากไม่ได้รับการรักษา  เพราะมีผลกระทบต่ออวัยวะทุกส่วน

เราป้องกันโรคลมแดดได้อย่างไรบ้าง

  1. เมื่อเรารู้ว่าปัจจัยเสี่ยงต่อโรคลมแดด เกิดจากการที่เราไปสัมผัสอากาศร้อนมากและนานเกินไป ต้องหลีกเลี่ยงตรงบริเวณนั้น
  2. บุคคลที่มีความเสี่ยงคือเด็กและผู้สูงวัย ที่ได้รับยาบางชนิดต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
  3. พยายามอยู่ในที่มีการระเหยหรือว่าลดความร้อนได้ เช่น ใส่เสื้อผ้าหลวมๆ ไม่อึกอัดจนเกินไป
  4. อยู่ใกล้แหล่งน้ำ คือสามารถที่จะหยิบน้ำขึ้นมาดื่มได้ จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคลมแดดได้ หรือ วันหนึ่งควรดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อย 1 ลิตรต่อวัน คือให้ได้ 8 แก้วต่อวัน หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรง  ให้สวมหมวก เสื้อ         ผ้าระบายความร้อนได้ดี

หากเราพบผู้ป่วยโรคลมแดด ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร

     หลักการโดยง่ายในการรักษาโรคลมแดด คือทำอย่างไรก็ได้ให้อุณหภูมิของร่างกายลดให้ลงเร็วที่สุด  ในบางกรณีคนไข้อาจช่วยเหลือตัวเองไม่ดีเท่าที่ควร เพราะอาจมีอาการเวียนศีรษะ หรือบางราย จะมีอาการกล้ามเนื้อเกรง  เดินโซเซ เมื่อพบเห็นควรปฐมพยาบาล ดังต่อไปนี้

  1. พาผู้ป่วยเข้าไปอยู่ในที่ร่มก่อน
  2. ให้ระบายอากาศอย่างรวดเร็ว เช่นปลดกระดุมเสื้อ หากเสื้อผ้าหนาให้ถอดออกเพื่อระบายอุณหภูมิในร่างกาย
  3. หากผู้ป่วยยังมีสติให้ดื่มน้ำเย็น ในกรณีหมดสติหลีกเลี่ยงการป้อนน้ำเพราะจะทำให้คนไข้เกิดอาการสำลัก นอกจากนี้ให้นำผ้าเย็นประคบตามซอกต่างๆของร่างกายผู้ป่วย เพื่อให้ความร้อนระเหยไปตามผ้า หลังจากนั้นนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

 

ข่าว :  งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มช.