คณะแพทย์มช. จัดแข่งขันตอบปัญหาวิชาการนานาชาติครั้งที่ 6
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉลองครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนา จัดกิจกรรมการแข่งขันตอบปัญหาวิชาการนานาชาติ Chiang Mai university International Medical Challenge 2019 (CMU-IMC 2019) ครั้งที่ 6 เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้พัฒนาความกล้าแสดงออก และมีส่วนร่วมเสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ทำให้ได้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและยังได้สร้างเครือข่ายความสัมพันธภาพอันดีกับเพื่อนร่วมสาขาวิชาการแพทย์อีกด้วย
ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “กิจกรรมแข่งขันตอบปัญหาวิชาการนานาชาติได้ปรับเปลี่ยนหัวข้อการแข่งขันทุกปี ในปีนี้ได้จัดให้มีการแข่งขันภายใต้หัวข้อพื้นฐานทางด้านสรีรวิทยาการแพทย์ (Basic To Clinical Physiology) มีผู้เข้าร่วมสมัครทั้งสิ้น 37 ทีม ทีมในประเทศ 19 ทีม และทีมจากนานาชาติอีก 18 ทีม จากประเทศไทย 19 ทีม อินโดนีเซีย 10 ทีม ฟิลิปปินส์ 2 ทีม สาธารณรัฐประชาชนจีน 2 ทีม เวียดนาม 2 ทีม และอินเดีย 2 ทีม นับเป็นโอกาสอันดีที่นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะได้ฝึกฝนทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ได้พัฒนาความกล้าแสดงออก และมีส่วนร่วมเสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ทำให้ได้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและยังได้สร้างเครือข่ายความสัมพันธภาพอันดีกับเพื่อนร่วมสาขาวิชาการแพทย์ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความก้าวหน้าในด้านการเรียนการสอน และการให้บริการทางสาธารณสุขในระดับมาตรฐานสากลอีกด้วย”
นายธนธรณ์ เจียรนัยกุลวานิช นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 ประธานโครงการ CMU IMC 2019 กล่าวว่า “สำหรับกิจกรรมนี้ ผมมองว่าหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการจัดงานนี้ก็เพื่อตอบโจทย์ความ globalization ในยุคปัจจุบัน ผมเชื่อว่าสำหรับรุ่นน้องที่ได้มีส่วนร่วมกับงานในปีนี้ แต่ละคนก็จะได้รับประสบการณ์ที่ดีแตกต่างกันไปตามเนื้องานที่ตัวเองรับผิดชอบ ทำให้ได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะบางอย่างในตัวเองอย่างแน่นอน ซึ่งสิ่งที่คาดว่าพวกเราทุกคนจะได้รับคือการได้เปิดมุมมองให้กว้างขึ้น ให้เห็นว่าในวงการนี้มีนักศึกษาแพทย์ที่มีความสามารถมากมายทั่วโลก และเราทุกคนก็สามารถพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถเช่นนั้นได้ และยังทำให้ได้เห็นถึงความสำคัญของภาษาสากลนั่นก็คือภาษาอังกฤษ ซึ่งงานนี้ทำให้ได้ฝึกฝนทักษะทางภาษาอังกฤษไม่ว่าจะเป็น การพูด การเขียน และการฟัง และผมเชื่อว่าแพทย์ที่ดีไม่ใช่แพทย์ที่เก่งเพียงวิชาชีพแพทย์อย่างเดียว ทักษะด้านอื่นๆล้วนมีความจำเป็นในการส่งเสริมให้นักศึกษาแพทย์จบมาเป็นแพทย์ที่ดีได้ และทักษะเหล่านั้นจะได้ฝึกฝนและขัดเกลาจากการปฏิบัติจริง ไม่ใช่การเรียนในห้องหรือจากการบอกกล่าว สิ่งที่ผมคิดว่าพวกเราทุกคนได้ฝึกคือทักษะการสื่อสาร ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญมากๆ ทั้งในแง่ของการพูด และการเขียน ทักษะการคิดและประมวลผล ทักษะการวางแผน ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น และทักษะความคิดสร้างสรรค์และการประยุกต์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้น้องเติบโตเป็นแพทย์ที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถต่อไป โดยภาพรวมจากมุมมองของผมปีนี้ถือว่าดีมากๆ ทุกคนทำงานอย่างหนักเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด ซึ่งงานก็ออกมาดีที่สุดเช่นกัน ขอชื่นชมและขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนครับ อาจจะยังมีบางอย่างที่เราต้องพัฒนาต่อ และบางเป้าหมายที่เรายังทำไม่สำเร็จ ซึ่งผมก็หวังว่าเราจะทำให้ดีขึ้นและสำเร็จในปีต่อไปครับ”
นอกจากนี้หลังการแข่งขันทางคณะแพทยศาสตร์ได้จัดให้มีการทัศนศึกษาตามแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่วัดพระธาตุดอยสุเทพ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ วัดบ้านเด่น ปางช้างแม่ตะมาน ซึ่งเป็นการสื่อให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นล้านนา และประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ จัดให้มีกิจกรรมให้ผู้แข่งขันได้เรียนรู้ ละลายพฤติกรรม จากการทำกิจกรรมร่วมกัน เกิดมิตรภาพระหว่างการแข่งขันและสัมพันธภาพที่ดีต่อไปในอนาคต
ภาพบรรยากาศกิจกรรมการแข่งขันตอบปัญหาวิชาการ
ภาพบรรยากาศทัศนศึกษาหลังการแข่งขัน
ขอบคุณรูปภาพจาก : medicine camera creative club
ดูรูปภาพเพิ่มเติม https://www.facebook.com/mccccmu/