
รศ.ดร.นพ.ศุภนิมิต ทีฆชุณหเถียร หัวหน้าศูนย์วิจัยทางคลินิกเพื่อทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพร (ศูนย์ CR-FAH) คณะแพทยศาสตร์ มช. ชี้แจงว่า ผู้บริโภคมักเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งตามกฎหมายไทย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยา และ “ไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค” แต่สามารถกล่าวอ้างได้เพียงว่า ช่วยส่งเสริมสุขภาพ หรือช่วยเสริมสารอาหารที่อาจได้รับไม่เพียงพอจากอาหารหลัก
“ประชาชนจำนวนมากเข้าใจผิดว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสามารถป้องกันหรือรักษาโรคได้ ทั้งที่จริงแล้ว ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นอาหารชนิดรับประทานรูปแบบพิเศษ เช่น เม็ด แคปซูล ผง หรือของเหลว ที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมสุขภาพเพิ่มเติมจากอาหารปกติ” รศ.ดร.นพ.ศุภนิมิต กล่าว
เพื่อให้เข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รศ.ดร.นพ.ศุภนิมิต ได้ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์สมมุติ “เนื้อผลมะม่วงผงบดที่มีวิตามินซีจากธรรมชาติ” ซึ่งตัวอย่างนี้จัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพราะ (1) ไม่ได้อยู่ในรูปแบบอาหารตามปกติ และ (2) คาดหวังผลส่งเสริมสุขภาพจากวิตามินซีในผลิตภัณฑ์ได้ โดยบริบทนี้ผู้ผลิตสามารถกล่าวอ้างทางสุขภาพบนฉลากได้ แต่ต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน เช่น สามารถระบุว่า วิตามินซีมีส่วนช่วยในกระบวนการต่อต้านอนุมูลอิสระ หรือวิตามินซีมีส่วนช่วยในการทำหน้าที่ตามปกติของระบบภูมิคุ้มกัน แต่ที่สำคัญ ต้องไม่กล่าวอ้างหรือโฆษณาสรรพคุณเกินจริง เช่น “รักษามะเร็ง” “ล้างพิษตับ” หรือ “ลดไขมันในตับ”
“หากผู้บริโภคยังไม่มั่นใจว่า คำกล่าวอ้างทางสุขภาพของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เหมาะสมกับตนเองหรือไม่ ก็ควรศึกษาเพิ่มเติมจากผลงานวิจัยที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรเป็นการศึกษาวิจัยในกลุ่มคนที่มีคุณลักษณะคล้ายคลึงกับผู้บริโภค เช่น ถ้าท่านเป็นผู้สูงอายุที่คาดหวังผลจากการบริโภคผลิตภัณฑ์มะม่วงผงบด ท่านต้องพิจารณาจากงานวิจัยที่ศึกษาประโยชน์ของผลิตภัณฑ์นี้ในผู้สูงอายุ ทั้งนี้อาจไม่สามารถนำผลวิจัยของผลิตภัณฑ์ในหลอดทดลอง หรือในหนู ในสุนัข มาอนุมานใช้กับมนุษย์ได้” รศ.ดร.นพ.ศุภนิมิต อธิบาย
สิ่งสำคัญอีกประการก็คือ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายและเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ซึ่งรับรองว่า ผลิตภัณฑ์นั้นขึ้นทะเบียนตามกฎหมายอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ต้องระวังการใช้เครื่องหมายและเลข อย. ในโฆษณาเกินจริง เพราะแท้จริงแล้ว เลข อย. ใช้แสดงข้อมูลสถานที่และการอนุญาตผลิต ไม่ได้รับรองสรรพคุณหรือผลการรักษาแต่อย่างใด
สำหรับเรื่องความปลอดภัย ผู้บริโภคควรตระหนักว่า แม้ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะมาจากแหล่งธรรมชาติ แต่ก็ยังอาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือผลข้างเคียงได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีผลข้างเคียงสำคัญ ทาง อย. จะกำหนดให้มีคำเตือนบนฉลาก เพื่อให้ใช้ในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม พร้อมกันนี้ ผู้บริโภคควรตรวจสอบจากฉลากว่า ตนมีโรคประจำตัวซึ่งเป็นข้อห้ามหรือควรระมัดระวังการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นหรือไม่
รศ.ดร.นพ.ศุภนิมิต ยังเน้นย้ำว่า “หากมีโรคประจำตัวและอยู่ระหว่างรักษา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้อยู่ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ปลอดภัย และป้องกันการเกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์จากการใช้ร่วมกับยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดอื่นๆ”
โดยสรุป ผู้บริโภคควรใช้วิจารณญาณในการเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยพิจารณาตามคำแนะนำ ดังนี้
• ตรวจสอบให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์มีเครื่องหมายและเลข อย.
• ไม่เชื่อคำกล่าวอ้างเกินจริงที่เกี่ยวกับการป้องกันรักษาโรค
• ปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ หรือศึกษางานวิจัย (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมนุษย์) ก่อนใช้
• อ่านฉลากและคำเตือนอย่างละเอียด
• บริโภคในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม
• หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิดที่มีส่วนประกอบซ้ำซ้อนกัน หรือใช้พร้อมยาชนิดอื่น
• แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง หากมีโรคประจำตัวและต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
“หากท่านสุขภาพแข็งแรง รับประทานอาหารครบ 5 หมู่อย่างเพียงพอ และดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ก็อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะอาหารธรรมชาติมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ปลอดภัย และคุ้มค่ากว่า” รศ.ดร.นพ.ศุภนิมิต กล่าวทิ้งท้าย
เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
24