Skip to content

สัญญาณเตือน “สโตรก” โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน : รู้ทันอาการ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้

โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (Stroke) คือภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติของสมองอย่างเฉียบพลันโดยเกิดจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยงหรือมีเลือดออกในสมอง
โรคนี้ส่งผลให้เซลล์สมองเกิดความเสียหายภายในเวลาไม่กี่นาที ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจนำไปสู่ความพิการหรือเสียชีวิตได้
ชนิดของโรคหลอดเลือดสมอง
โรคนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก:
1. สมองขาดเลือดเฉียบพลัน (Ischemic Stroke)
เกิดจากหลอดเลือดตีบหรือลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุเกือบ 90% ของผู้ป่วยทั้งหมด
2. เลือดออกในสมองเฉียบพลัน (Hemorrhagic Stroke)
เกิดจากหลอดเลือดในสมองแตกหรือรั่ว ทำให้เลือดรั่วไหลออกไปกดทับเนื้อสมอง พบได้น้อยกว่า แต่รุนแรงกว่า
ปัจจัยเสี่ยงของโรคที่ควรระวัง
• ที่ควบคุมไม่ได้: อายุที่มากขึ้น, เพศชาย, พันธุกรรม
• ที่ควบคุมได้:
• ความดันโลหิตสูง
• เบาหวาน
• ไขมันในเลือดสูง (โดยเฉพาะไขมันเลว LDL)
• โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
• โรคอ้วนลงพุง
• สูบบุหรี่
• ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
• ภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ
อาการเบื้องต้นและการสังเกตอาการด้วยหลัก B.E.F.A.S.T
• หลัก B.E.F.A.S.T เป็นแนวทางช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว:
▪️B (Balance): เสียการทรงตัว วิงเวียน เดินเซ
▪️E (Eye): มองไม่เห็นเฉียบพลัน ตามืดบอดข้างเดียวหรือสองข้างทันที เห็นภาพซ้อน
▪️F (Face): ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยวเฉียบพลัน
▪️A (Arm): แขนขาอ่อนแรง หรือชาครึ่งซีก
▪️S (Speech): พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง พูดไม่ออกหรือพูดไม่รู้เรื่องเฉียบพลัน
▪️T (Time): รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ภายในเวลา 4.5 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการ
การรักษาขึ้นอยู่กับ “เวลา”
ในกลุ่มโรคสมองขาดเลือดเฉียบพลัน หากมาถึงโรงพยาบาลภายใน 4.5 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ ผู้ป่วยจะมีโอกาสได้รับ ยาฉีดละลายลิ่มเลือด ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในกรณีที่มีหลอดเลือดแดงอุดตัน อาจต้องใช้ สายสวนเพื่อดึงลิ่มเลือดออก ได้ภายใน 6 ชั่วโมง (บางกรณีถึง 12–24 ชั่วโมงในหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงก้านสมอง)
ผลกระทบหากรักษาช้าในกลุ่มโรคสมองขาดเลือดเฉียบพลัน
• ระยะเฉียบพลัน : สมองบวม, สมองเลื่อน ซึ่งอาจไปกดศูนย์ควบคุมการหายใจได้, เลือดออกในสมองที่มีการขาดเลือด
• ระยะกลางถึงระยะยาว : ติดเชื้อแทรกซ้อน, ภาวะทุพพลภาพ, ภาวะติดเตียง, สมองเสื่อม
โอกาสฟื้นตัว
• 10% กลับมาปกติหรือใกล้เคียงปกติ
• 25% เหลืออาการเล็กน้อย
• 40% มีความทุพพลภาพระดับปานกลางถึงมาก
• 10% ภาวะติดเตียง
• 15% เสียชีวิตจากโรคหรือภาวะแทรกซ้อน
แนวทางป้องกันโรคสมองขาดเลือดเฉียบพลัน
• ควบคุมโรคประจำตัว (เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง, โรคอ้วนลงพุง, ภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ)
• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์
• เลือกอาหารสุขภาพแบบเมดิเตอร์เรเนียน ประกอบด้วยอาหารเพื่อสุขภาพมากมาย เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผลไม้ ผัก อาหารทะเล ถั่ว และถั่วเปลือกแข็ง
• งดสูบบุหรี่ ลดการบริโภคแอลกอฮอล์
• ตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง
โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน เป็นโรคที่ “เวลาคือชีวิต” หากรู้เท่าทันอาการ รีบมารับการรักษา สามารถลดความรุนแรงของโรคได้อย่างมาก
การดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม สามารถป้องกันโรคได้
หากพบอาการผิดปกติ โทรด่วน 1669 โดยไม่รอให้หายเอง เพราะการรักษาทันทีในช่วงเวลา “ทอง” อาจหมายถึงการรักษาชีวิตหรือคุณภาพชีวิตของคนที่คุณรักไว้ได้
เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่