นพ.ชโนดม เพียรกุศล และ นพ.ณัฐภัทร ศิริอังกุล ผู้ได้รับพระราชทานทุน โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

นพ.ชโนดม เพียรกุศล และ นพ.ณัฐภัทร ศิริอังกุล

 ผู้ได้รับพระราชทานทุน โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

 

               โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เยาวชนไทยที่รักและมุ่งมั่นในวิชาชีพด้านการแพทย์ ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ทรงอุทิศชีวิตเพื่อสร้างสรรค์สุขภาพอนามัยของมวลมนุษยชาติ โดยคัดเลือกนิสิต นักศึกษาแพทย์ทั่วประเทศเดินทางไปปฏิบัติงานด้านการวิจัย ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ หรือด้านการพัฒนาชุมชนในหรือต่างประเทศเป็นเวลา 1 ปี เพื่อนำทักษะความรู้มาแก้ไขปัญหาด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย อีกทั้งยังถือเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างนักวิจัยและนักพัฒนารุ่นใหม่ด้านสุขภาพให้มีทักษะการทำงานระดับโลกอีกด้วย 

                สำหรับปี 2559 ผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนพระราชทาน โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วยนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 จำนวน 2 คน ได้แก่ นายแพทย์ชโนดม เพียรกุศล และ นายแพทย์ณัฐภัทร ศิริอังกุล

               

               นายแพทย์ชโนดม เพียรกุศล หนึ่งในผู้ได้รับพระราชทานทุน โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ศึกษาต่อประเทศสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์ว่า “สำหรับทุนพระราชทาน โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ถือเป็นเกียรติอันสูงสุด และเป็นโอกาสที่ดีมากในชีวิตของหมอจบใหม่แบบผม  เป็นรางวัลที่เหมือนเป็นใบเบิกทาง ทำให้ได้ศึกษาในประเด็นตามที่เราสนใจ ผมมีโอกาสได้ไปศึกษาที่ Department of Emergency Medicine โดยมี Professor Bryan Francis McNally เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในด้าน Cardiac Arrest Registry to Enhance Survival (CARES) ผมรู้สึกโชคดี และดีใจอย่างมากที่ได้มีโอกาสศึกษากับท่าน และได้ร่วมงานกับเพื่อนร่วมงานที่ดี ทุกคนดูแลผมดีมากๆ  ในระหว่างที่อยู่ต่างประเทศ ผมศึกษาเกี่ยวกับการลดอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล ศึกษาว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำให้การรอดชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสรอดสูงขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตนอกโรงพยาบาลสูง เมื่อเทียบกับหลายประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเราเองก็มีระบบการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานที่สามารถช่วยลดความสูญเสียได้ รวมถึงการแจ้งให้ประชาชนทราบเมื่อพบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ตั้งสติ และโทรแจ้งสายด่วน หมายเลขโทรศัพท์ 1669 รวมถึงการให้ความรู้เรื่องการทำ CPR การใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ เป็นต้น    

            นอกจากนี้ผมมองว่า จุดแรกที่สำคัญจะทำการพัฒนาคือเรื่องของการเก็บข้อมูล ซึ่งช่วงที่ผมได้ศึกษาที่ต่างประเทศ ได้รับทุนในการทำวิจัย 1 ล้านบาท ที่สามารถใช้งบนี้ในการพัฒนา หรือศึกษาหาข้อมูลการวิจัย ซึ่งตอนนี้เริ่มทำการเก็บข้อมูลแล้วที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข ผมหวังว่าการทำงานวิจัยนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยให้อัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล มีอัตรารอดเพิ่มสูงขึ้นได้”   

   

 

 

 

             ด้านนายแพทย์ณัฐภัทร ศิริอังกุล ผู้ได้รับทุนศึกษาต่อประเทศสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมรู้สึกดีใจมากที่ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในครั้งนี้ ซึ่งเป็นทุนที่ให้อิสระในการเลือก เราศึกษาตามประเด็นที่เราสนใจ เลือกมหาวิทยาลัย และเลือกศึกษากับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพราะฉะนั้นผมจึงมองว่าทุนนี้เป็นโอกาสที่ดีมากๆ และการที่เราไปในนามของตัวแทนประเทศไทย ในโครงการพระบรมราชูปถัมภ์ โอกาสที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆที่เราเสนอไป จะรับเราให้เป็นของนักเรียนของท่านสูงมากๆ อีกทั้งทุนนี้ยังให้การสนับสนุนเรื่องประชุมนานาชาติ ระหว่างที่เราไปปฎิบัติงานที่ต่างประเทศ ผมได้เข้าร่วมงานประชุมของสมาคมแพทย์โรคหัวใจของประเทศอเมริกา ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมากในชีวิต ผมขอขอบพระคุณทางโครงการฯ ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาแพทย์ ที่มีความสนใจอยากไปทำที่คิดว่าจะมีประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุขหรือวงการแพทย์ของไทยในอนาคต ให้มีความฝันที่เป็นจริง

 

ช่วงเวลาที่ได้ไปศึกษาปฎิบัติงานที่ต่างประเทศ ผมได้เห็นบรรยากาศการทำวิจัยในห้อง lab ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ งานของผมเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการค้นหากลไกของความผิดปกติหัวใจของผู้ป่วยโรคธาลัซซีเมีย ที่ๆผมไปคือ Rutgers University-New Jersey ประเทศสหรัฐอเมริกา อาจารย์ที่ปรึกษาของผมท่านชื่อ Professor Lai-Hua Xie ท่านเชี่ยวชาญเรื่องการศึกษาสรีระวิทยาทางไฟฟ้าในระดับเซลล์ เป็นโอกาสที่ดีที่ผมได้มาเรียนกับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง และเพื่อนทุกคนก็มีความเป็นมิตร บรรยากาศก็สนุกสนานเหมือนเป็นแหล่งรวมของคนที่สนใจอะไรคล้ายกัน ชอบในสิ่งเดียวกัน ผมมีความสุขมากครับ

  สำหรับมุมมองด้านการพัฒนา ผมมองว่าประเทศของเรายังมีแพทย์ที่สนใจการทำวิจัย วิทยาศาสตร์พื้นฐานทางการแพทย์น้อยอยู่ มีคนที่สนใจที่จะศึกษากลไกของโรคในเชิงลึกในระดับเซลล์ ระดับโมเลกุลน้อย ซึ่งความจริงแล้วความรู้ในส่วนนี้เป็นรากฐานที่สำคัญที่จะทำความเข้าใจโรค และนำไปสู่การพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆที่ได้ผลให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ผมก็อยากเชิญชวนรุ่นน้องที่สนใจในด้านนี้ให้มาทำวิจัย และก็ศึกษาพื้นฐานวิทยาศาสตร์การแพทย์ในอนาคตให้มากขึ้นต่อไป”

 

**************************************************************************