
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เตือนประชาชนระวังโรคฉี่หนู หรือ Leptospirosis ซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วมขัง ดินโคลน และสิ่งแวดล้อมชื้นแฉะ ซึ่งเหมาะแก่การแพร่กระจายของเชื้อโรค แนะหากมีไข้ ปวดเมื่อย ตาแดง และมีประวัติลุยน้ำ ควรรีบพบแพทย์ทันที
อ.นพ.หฤษฎ์ ทองวิทูโกมาลย์ อาจารย์หน่วยโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อนภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “โรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Leptospira ซึ่งมักพบในปัสสาวะของสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ เช่น วัว ควาย หมู แพะ สุนัข หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงอย่างกระรอก โดยเชื้อสามารถแพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมและเข้าสู่ร่างกายคนผ่านทางบาดแผล หรือเยื่อบุ ได้อย่างง่ายดาย
“ช่วงน้ำท่วมขังหรือพื้นที่ชื้นแฉะ จะทำให้เชื้อฉี่หนูปะปนในน้ำและดินหากมีแผลที่เท้า หรือเดินลุยน้ำโดยไม่ป้องกัน มีโอกาสติดเชื้อสูง”
อ.นพ.หฤษฎ์ กล่าว
ผู้ติดเชื้อในระยะแรกอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย ได้แก่ ไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณน่อง หลัง หรือมีอาการตาแดง ซึ่งอาจคล้ายกับไข้หวัดใหญ่หรือไข้เลือดออก แต่หากไม่ได้รับการรักษา โรคสามารถพัฒนาเข้าสู่ระยะรุนแรงได้ เช่น: ตัวเหลือง ตาเหลือง ,ไตวาย ,ภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น ในปอด
อ.นพ.หฤษฎ์ ระบุว่า โรคฉี่หนูสามารถตรวจวินิจฉัยได้จากการเจาะเลือด หากพบเชื้อสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ โดยอาการไม่รุนแรงมักใช้ยารับประทาน แต่หากอาการหนักจะต้องรักษาด้วยยาฉีด และเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
กลุ่มเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้ที่ลุยน้ำท่วมโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผล ,เกษตรกร คนขุดลอกคูคลอง คนสวน ,ผู้ที่ทำงานกับสัตว์ เช่น สัตวแพทย์ พนักงานโรงฆ่าสัตว์ และนักท่องเที่ยวที่เล่นกีฬาทางน้ำ เดินป่า ลุยแม่น้ำ หรือน้ำตก
แนะวิธีป้องกันโรคฉี่หนู คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำหรือดินในพื้นที่ที่อาจปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ ,หากจำเป็นต้องลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ต ถุงมือ และชุดป้องกัน ,ปิดแผลให้มิดชิดด้วยวัสดุกันน้ำก่อนลุยน้ำ ,อาบน้ำและล้างร่างกายทันทีหลังสัมผัสน้ำที่ไม่สะอาด ,กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์หนู เช่น กองขยะ เศษอาหาร หรือที่รกร้าง
“หากมีไข้ ปวดเมื่อย ตาแดง และมีประวัติสัมผัสน้ำท่วม หรือน้ำจากแหล่งไม่สะอาดในช่วง 7–14 วันก่อนหน้า ควรรีบไปพบแพทย์ ไม่ควรปล่อยไว้ เพราะโรคนี้อาจลุกลามรุนแรงและเสียชีวิตได้”
อ.นพ.หฤษฎ์ ย้ำ
คณะแพทยศาสตร์ มช. ขอความร่วมมือประชาชนให้เฝ้าระวังโรคฉี่หนูอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกหนักและน้ำท่วมขัง พร้อมรณรงค์ให้ทุกคนรู้จักวิธีป้องกัน และเข้ารับการรักษาทันทีหากมีอาการต้องสงสัย
เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
391