Skip to content

สังเกตอย่างไรให้รู้ ลูกซนตามวัยหรือสมาธิสั้น

เด็กสมาธิสั้น หรือ Attention-Deficit/Hyperactivity Disorder (ADHD) เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง ส่งผลให้เด็กมีปัญหาในการควบคุมพฤติกรรมและสมาธิ อาการที่พบนั้นมักจะแสดงออกในทุกสถานที่ ไม่ใช่เฉพาะที่บ้านหรือโรงเรียน หรือเฉพาะบางสถานการณ์
อาการของเด็กสมาธิสั้น
1. ขาดสมาธิ :
  • ไม่สามารถจดจ่อกับกิจกรรมได้นาน
  • ทำงานไม่เสร็จตามเวลา
  • มักลืมของบ่อย ๆ เช่น ของเล่นหรืออุปกรณ์การเรียน
2. ซนเกินไป หรือ Hyperactivity:
  • เคลื่อนไหวตลอดเวลา นั่งนิ่งไม่ค่อยได้
  • ชอบพูดหรือทำสิ่งต่าง ๆ อย่างรีบเร่ง
  • มักจะมีปัญหาในการควบคุมการเล่น หรือทำกิจกรรมเบา ๆ
3. หุนหันพลันแล่น (Impulsivity):
  • ทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่คิดหรือหยุดยั้ง เช่น การพูดแทรกคนอื่น
  • เล่นแรงเกินไป ทำให้เกิดการบาดเจ็บบ่อย
  • มักมีปัญหาในการรอคอยตามลำดับ
สาเหตุที่ทำให้เด็กสมาธิสั้น
• พันธุกรรม : ผู้ปกครองหรือญาติใกล้ชิดมีประวัติภาวะสมาธิสั้น
• ความผิดปกติของสมอง : การทำงานของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมพฤติกรรมและสมาธิ
• ปัจจัยสิ่งแวดล้อม : เช่น การสัมผัสสารพิษระหว่างตั้งครรภ์ การบาดเจ็บของสมองตั้งแต่วัยเยาว์
• ปัจจัยกระตุ้น : เช่น การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง อาจไม่ใช่สาเหตุหลัก แต่เป็นปัจจัยเสริมให้สมาธิแย่ลงได้
วิธีสังเกตว่าเด็กซนตามวัยหรือสมาธิสั้น
• เด็กซนตามวัย :
  • ทำกิจกรรมได้ตามคำสั่งของพ่อแม่หรือครู
  • สามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมได้ดีตามวัย
  • เข้ากับเพื่อนหรือคนรอบข้างได้ ไม่มีปัญหาในการเข้าสังคม
• เด็กสมาธิสั้น :
  • ไม่มีสมาธิในการทำกิจกรรมหรืองานที่ต้องใช้เวลา
  • ควบคุมตัวเองได้ยาก มักทำอะไรหุนหันพลันแล่น
  • มีปัญหาในการเข้าสังคมหรือการทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น
แนวทางการดูแลเด็กสมาธิสั้น
• ปรับพฤติกรรม : ฝึกวินัยในการใช้ชีวิต ช่วยให้เด็กควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม เช่น การตั้งกฎเกณฑ์ในกิจกรรมประจำวัน การฝึกให้ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความใจเย็นและเป็นขั้นตอน
• การรักษาด้วยยา : การใช้ยาที่ช่วยเพิ่มสมาธิ ช่วยให้เด็กสามารถมีสมาธิและควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น ไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตหรือการเรียนในระยะยาว
บทบาทของครอบครัว
ครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการดูแลและส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมของเด็ก ควรให้เวลากับลูกมากขึ้นและจัดกิจกรรมที่เหมาะสม เช่น การวาดรูป การออกกำลังกาย หรือการอ่านนิทาน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เด็กได้ใช้พลังงานในทางที่ดี สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ใช้สื่อเกินจำเป็นและควบคุมเวลาอย่างเหมาะสม
หากพบว่าเด็กมีปัญหาการควบคุมสมาธิหรือพฤติกรรมที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการวินิจฉัยและคำแนะนำในการดูแลรักษาต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.พญ.นงลักษณ์ บุญชูดวง อาจารย์ประจำสาขาวิชาพัฒนาการและพฤติกรรม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.