
อาจารย์แพทย์ มช.เตือนประชาชนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับการได้ยินจาก เสียงประทัดและพลุในช่วงเทศกาลลอยกระทง เนื่องจากเสียงที่ดังมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อหู จนเกิดเสียงดังในหู หรือส่งผลให้สูญเสียการได้ยินแบบถาวรได้
ผศ.นพ.จารึก หาญประเสริฐพงษ์ หัวหน้าหน่วยโสตวิทยา โสตประสาทวิทยา และการสื่อความหมาย ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “เทศกาลลอยกระทงเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองที่มีการจุดพลุและประทัด แต่เสียงดังจากกิจกรรมเหล่านี้อาจส่งผลต่อสุขภาพหูได้อย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะ พลุ ประทัด ประทัดยักษ์ ทำให้เสียงที่สามารถสร้างแรงกระแทกที่ส่งผลเสียต่อหูชั้นในได้ทันที ยิ่งหากแรงกระแทกจากประทัดยักษ์ ที่มีรุนแรงมากอาจทำให้แก้วหูทะลุ และพลังเสียงดังจะส่งผลไปทำอันตรายต่อเซลล์ในหูชั้นใน ซึ่งอาจทำให้สูญเสียการได้ยินอย่างถาวร และเมื่อเกิดความเสียหายต่อหูชั้นใน อาจทำให้เกิดเสียงดังในหู (Tinnitus) ที่รบกวนตลอดชีวิต ซึ่งอาการดังกล่าวรักษาหายได้ยาก จึงควรอยู่ห่างจากเสียงดัง เช่น บริเวณที่จุดพลุหรือประทัด ไม่เล่นประทัด หรือดอกไม้ไฟที่มีเสียงดังรุนแรง หากจำเป็นต้องอยู่ในที่เสียงดังควรใส่ที่อุดหูหรือที่ครอบหูเพื่อลดเสียงที่จะเข้าหู อย่าฟังเสียงดังเป็นเวลานาน หากต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงดังมาก ควรพักออกมาจากบริเวณนั้นเป็นระยะ เพื่อลดการสะสมของระดับเสียงดังที่หูได้รับ
สำหรับเด็กเล็กการปล่อยให้เด็กอยู่ใกล้ประทัดหรือพลุมีความเสี่ยงสูง ไม่เพียงแค่อันตรายจากเสียงที่ดังเกินไป อาจเกิดอุบัติเหตุจากการถูกสะเก็ดไฟหรือการระเบิด ทำให้บาดเจ็บจนสูญเสียอวัยวะ ผู้ปกครองควรดูแลเด็กๆ อย่างใกล้ชิด และอธิบายให้เด็กเข้าใจถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
กล่าวเพิ่มเติมว่าเราจะป้องกันภัยจากเสียงดังต่อหูได้อย่างไร
1. หากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงในระดับที่ต้องตะโกนคุยกันถึงจะได้ยิน แสดงว่าบริเวณนั้นมีเสียงดังกว่า 90 เดซิเบล
2. ไม่ควรอยุ่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง ตั้งแต่ระดับเสียง 80-90 เดซิเบลขึ้นไป นานเกิน 8 ชั่วโมง
3. หากเลี่ยงไม่ได้ต้องป้องกันด้วยการใส่ที่อุดหูที่ครอบหูจะช่วยลดระดับความดังของเสียงได้
ถึงแม้ไม่ได้อยู่ในช่วงเทศกาล แต่ทำงานในสถานที่ที่มีเสียงดังตลอดเวลา ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันหูอย่างสม่ำเสมอเพราะเสียงดังที่สะสมเป็นเวลานานมีผลเสียต่อการได้ยินได้ สำหรับผู้ที่ใช้หูฟังฟังเพลงหรือเล่นเกมในระดับเสียงดังนานๆ โดยเฉพาะการเปิดเสียงดังเกินไป ควรถอดหูฟัง พักหู เป็นระยะ เช่น ฟัง 1 ชั่วโมง พัก 10 นาที
หากเริ่มรู้สึกว่ามีเสียงอื้อในหู คนรอบข้างบ่นว่าเรียกไม่ค่อยได้ยิน หรือต้องปรับระดับเสียงทีวีหรือโทรศัพท์ให้ดังขึ้น เรื่อยๆ นั่นเป็นสัญญาณเตือนของการเสื่อมของการได้ยิน ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจการได้ยินโดยเร็ว
เทศกาลลอยกระทงเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข แต่ก็ควรให้ความสำคัญกับการดูแลการได้ยินให้ปลอดภัย โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงตนเองจากเสียงดังและการใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงอย่างเหมาะสม เพียงเท่านี้ก็สามารถสนุกกับเทศกาลได้โดยไม่ต้องกังวลปัญหาการสูญเสียการได้ยินในระยะยาว”
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
421