Skip to content

14 พฤศจิกายน วันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) ปี 2567 ธีม “Diabetes and Well-Being”

ความเป็นมาของวันเบาหวานโลก
วันเบาหวานโลกเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2534 โดยสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ (IDF) และองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อให้ความรู้และเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานทั่วโลก โดยกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันเบาหวานโลก เพื่อระลึกถึงวันเกิดของ เฟรเดอริก แบนติง นักวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดาที่ร่วมกับชาร์ลส์ เบสต์ ค้นพบอินซูลินในปี พ.ศ. 2465 การค้นพบนี้ส่งผลให้แบนติงได้รับรางวัลโนเบล และทำให้อินซูลินกลายเป็นการรักษาสำคัญของผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก
สถานการณ์โรคเบาหวานทั่วโลก
จากการสำรวจในปี ค.ศ.2021 มีประชากรทั่วโลกถึง 537 ล้านคนที่เป็นเบาหวาน คิดเป็นร้อยละ 10.5 ของประชากร และคาดว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นเป็น 783 ล้านคนภายในปี ค.ศ.2045 ส่วนในประเทศไทย ความชุกของโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ.2563 พบว่าประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปเป็นเบาหวานถึงร้อยละ 9.5
โรคเบาหวาน คืออะไร
เบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจากความผิดปกติในการผลิตหรือใช้อินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลไม่สมดุลและมีการเผาผลาญที่ผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น หัวใจ ไต และเส้นประสาท
โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น 3 ชนิดหลักที่พบได้บ่อย คือ
1.โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes)
โรคเบาหวานชนิดนี้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายเซลล์เบต้าในตับอ่อน ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน ส่งผลให้ร่างกายขาดอินซูลิน โรคเบาหวานชนิดที่ 1 มักพบในเด็กและวัยรุ่น แต่ก็สามารถเกิดได้ในทุกช่วงอายุ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับอินซูลินจากภายนอกเป็นประจำเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
2.โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes)
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มักพบในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือมีพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม โรคนี้เกิดจากร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ภาวะดื้อต่ออินซูลิน) ซึ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถป้องกันได้ด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการลดน้ำหนัก
3.โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes)
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์เกิดขึ้นเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ส่งผลให้ร่างกายมีความไวต่ออินซูลินลดลง แม้ว่าโรคนี้มักจะหายไปหลังการคลอด แต่หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ทั้งแม่และลูกมีปัญหาสุขภาพในอนาคต
อาการของโรคเบาหวาน
อาการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม:
• อาการจากน้ำตาลสูง : ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ หิวบ่อย น้ำหนักลด อ่อนเพลีย
•อาการจากภาวะแทรกซ้อน : ตาพร่ามัว แผลหายยาก ชาตามปลายมือและเท้า
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
•เบาหวานชนิดที่ 1 : เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ตับอ่อน ทำให้ร่างกายต้องพึ่งพาอินซูลินจากภายนอก
•เบาหวานชนิดที่ 2 : สาเหตุสำคัญมาจากภาวะดื้ออินซูลิน ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น อายุที่มากขึ้น น้ำหนักตัวเกิน โรคความดันโลหิตสูง และประวัติเบาหวานในครอบครัว
การป้องกันและดูแลตัวเอง
การป้องกันเบาหวานชนิดที่ 2 ทำได้โดยปรับพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดี ดังนี้ :
•ควบคุมอาหาร : เลือกอาหารหลากหลาย ควบคุมปริมาณน้ำตาล คาร์โบไฮเดรต และไขมัน
•ออกกำลังกายสม่ำเสมอ : เลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย ออกกำลังกายอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
•ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง : หลีกเลี่ยงการนั่งนานๆ และลดเวลาอยู่หน้าจอ
•งดสูบบุหรี่และลดแอลกอฮอล์ : การสูบบุหรี่ทำให้ความเสี่ยงโรคเบาหวานและโรคร้ายแรงอื่นๆ สูงขึ้น ส่วนแอลกอฮอล์ทำให้น้ำหนักเพิ่ม
•นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ : การนอนหลับที่ดีมีผลต่อระดับฮอร์โมนและความไวต่ออินซูลิน แนะนำให้พักผ่อน 7-9 ชั่วโมงต่อคืน
วันเบาหวานโลก ปี 2567 เน้นความสำคัญของการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ ด้วยการปรับพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ และการให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองเพื่อให้สามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพ และลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนในอนาคต
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ผศ.ดร.นพ.กานต์ เวชอภิกุล
อาจารย์หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่