
องค์การสหประชาชาติ เป็นผู้กำหนดให้ทุกวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี เป็น วันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons) โดยกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1991 หรือ พ.ศ.2534 พร้อมให้ความหมายของคำว่า “ผู้สูงอายุ” ว่า คือบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง โดยสามารถจัดกลุ่มผู้สูงอายุเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุวัยต้น คือ บุคคลที่มีอายุ 60-69 ปี ทั้งชายและหญิง ผู้สูงอายุวัยกลาง คือ บุคคลที่มีอายุ 70 – 79 ปี และผู้สูงอายุวัยปลาย คือ บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง
ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” โดยจะมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และมีการคาดว่าในปีพ.ศ.2576 จะเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” คือมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในอัตราร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนผู้สูงอายุที่มากขึ้นนั้นส่งผลกระทบในหลายระดับ ทั้งตัวผู้สูงอายุเอง ครอบครัว และสังคมโดยรอบ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างเหมาะสมในหลากหลายระดับการดูแล ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ รักษาโรค ฟื้นฟูสภาพ การดูแลช่วงการเจ็บป่วยระยะท้าย รวมถึงด้านสภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจ
ดังนั้นควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะทั้งทางกายและจิตใจ ไม่ว่าการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ฉีดวัคซีนเมื่อครบเวลาที่กำหนด ตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: รศ.นพ.พีระศักดิ์ เลิศตระการนนท์ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2917