โรคลมชัก ภัยใกล้ตัวที่ควรรู้

0
ข่าว ข่าวเด่น ข่าวและกิจกรรม บทความ บทความ บทความน่ารู้สู่ประชาชน สาระสุขภาพ

จากข้อมูลรายงานผู้ป่วยโรคลมชักที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีจำนวนสูงมากกว่า 1,000 ราย กระจายอยู่ในทุกกลุ่มอายุ ทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักนั้น จะมีอาการชักอย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกันมากกว่า 24 ชั่วโมง โดยอาการชักของโรคลมชักเกิดจากกระแสไฟฟ้าในร่างกายผิดปกติ เนื่องจากส่วนต่างๆในสมองมีหน้าที่ต่างกัน ดังนั้นหากมีไฟฟ้าผิดปกติส่วนใดก็มักจะมีอาการชักตรงส่วนนั้น

อาการของโรคลมชัก
บางครั้งสังเกตง่าย เตะตา เช่น เกร็ง กระตุก อาจจะมีอาการครึ่งซีกหรือทั้งร่างกาย ระหว่างที่เกร็งมีอาการกระพริบตาถี่ น้ำลายไหล หรืออุจจาระ ปัสสาวะราด แต่บางครั้งอาการชักสังเกตยาก กล่าวคือต้องเกิดขึ้นหลายครั้งถึงจะสังเกตเห็น เช่น เหม่อลอย ตาแข็ง เรียกไม่รู้ตัว เคี้ยวปาก กำมือ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นเองและหายได้เอง ระยะเวลาไม่เกิน 5 นาที ทุกครั้งจะมีลักษณะคล้ายๆกัน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการชักเกิดขึ้นครั้งแรก คนในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดควรพิจารณาและพามาพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุของอาการชัก

อาการชักที่ควรรู้
•ชักเฉพาะส่วนของร่างกาย
– เกร็ง กระตุกเฉพาะส่วน
– เหม่อเคี้ยวปาก เรียกไม่ตอบ
– การรับรู้ประสาทสัมผัสเช่น กลิ่น รส
– ระบบอัตโนมัติ เช่น ขนลุก ใจสั่น
•ชักทั้งตัว หมดสติ
– เกร็ง กระตุกทั้งตัว
– ชักสะดุ้งที่แขนทั้งสองข้าง
การมาพบแพทย์ควรแจ้งประวัติการเจ็บป่วย หรืออาจจะมีคลิปวิดีโอขณะเกิดอาการชักมาประกอบ เพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัยโรคและแนวทางการรักษาได้

สาเหตุของโรคลมชัก
– โครงสร้างสมองผิดปกติอาจเกิดแต่กำเนิด หรือ เกิดขึ้นภายหลัง
– ยีนส์/ พันธุกรรมผิดปกติ
– ปัญหาทางเมตาโบลิก
– การติดเชื้อในสมอง
– โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน
– สาเหตุอื่นๆ

การรักษาโรคลมชัก
– การรักษาด้วยยากันชัก (ในเด็กควรรักษาด้วยยากันชักติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปี / ผู้ใหญ่ 4 ปี)
– การรักษาด้วยการผ่าตัด จะเป็นวิธีการรักษาขั้นสุดท้าย หากได้รับการรักษาด้วยยาแล้วแต่ดื้อยา และพบว่าภาพถ่ายในสมองมีความผิดปกติ ถึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาแบบผ่าตัด
– การรักษาด้วยอาหาร ketogenic Diet
– การฝังอุปกรณ์กระตุ้นไฟฟ้า

จากการวิจัยทางการแพทย์ พบว่า การรักษาอาการลมชักของผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดโรคลมชัก โดยปกติในผู้ป่วยที่เป็นเด็กแพทย์จะให้ยาไปรับประทานเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งจะสามารถช่วยควบคุมอาการชักและการกลับมาเป็นซ้ำได้เป็นอย่างดี ส่วนในผู้ใหญ่ จะใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปี นับจากการชักครั้งสุดท้าย ส่วนใหญ่ประสบผลสำเร็จในการรักษาประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อหายแล้วสามารถหยุดยาได้ แต่ในบางราย แพทย์อาจวินิจฉัยให้รับประทานยากันชักขนาดต่ำๆไปตลอด มากกว่าการหยุดยากันชัก

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคลมชัก
– รับประทานยากันชักอย่างสม่ำเสมอ
– พักผ่อนให้เพียงพอ
– หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น ดื่มแอลกอฮอล์
– การประกอบอาหาร ควรใช้เตาไฟฟ้าหรือไมโครเวฟ
– อาบน้ำในห้องน้ำ ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำในอ่างอาบน้ำ

การปฐมพยาบาลผู้ที่มีอาการชัก
– ตั้งสติให้ดี ไม่ตื่นเต้น
– ป้องกันการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่ให้มีสิ่งของที่เป็นอันตรายอยู่ใกล้ผู้ป่วย
– ไม่ควรนำสิ่งของเข้าปากคนไข้ ไม่กดแขน ขา ห้ามป้อนน้ำหรือยา และไม่จำเป็นต้องปั๊มหน้าอก
– หากไม่สามารถควบคุมการทรงตัวได้ ควรให้นอนราบ และหาวัสดุนุ่มหนุนศีรษะ
– หลังจากหยุดเกร็งให้จัดท่าคนไข้นอนตะแคง เพื่อลดการสำลัก
– จับเวลาว่ามีอาการชักนานเท่าไหร่ หากมีอุปกรณ์ควรบันทึกวิดีโอขณะผู้ป่วยมีอาการ
– คอยดูแลผู้ป่วยจนกว่าอาการชักจะหายและได้สติ

หากสงสัยว่าบุตรหลานหรือคนในครอบครัวเป็นโรคลมชักหรือไม่ ควรพาไปตรวจเช็คได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัยและรักษา โรคลมชักถึงแม้จะเป็นภัยใกล้ตัว แต่รักษาหายได้ หากกินยาและปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ
ขอบคุณข้อมูลจาก

ผศ.พญ.กมรวรรณ กตัญญูวงศ์ หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. รศ.นพ.อธิวัฒน์ สุนทรพันธ์ อาจารย์ประจำหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง : นางสาวสมัชญา หน่อหล้า
ภาพ/ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มช.