เส้นฟอกไต ดูแลอย่างไร ให้อยู่นาน

0
ข่าวเด่น ข่าวและกิจกรรม ความรู้เพื่อสุขภาพ บทความ บทความ บทความน่ารู้สู่ประชาชน สาระสุขภาพ

ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญเกิดจาก เบาหวาน นิ่วในไต การรับประทานยาผิดประเภทและโรคประจำตัวอื่น หากได้รับการวินิจฉัยโรคและรักษาเร็ว ก็จะทำให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ในบางรายที่เข้ารับการรักษาช้า อาจนำไปสู่อาการไตวาย และเสียชีวิตได้

อาการของผู้ป่วยโรคไต
– ปัสสาวะน้อยลง หรือปัสสาวะมีฟอง
– มีอาการบวมตามจุดต่างๆในร่างกาย เช่น แขน ขา
– มีรอยคล้ำหรือซีดตามร่างกาย

ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตระยะแรก แพทย์อาจจะแนะนำให้รับประทานยาเพื่อรักษา แต่หากเป็นผู้ป่วยไตวายในระยะที่ 4-5 จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟอกไต ซึ่งการฟอกไตคือการขับของเสียออกจากร่างกายของผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายไม่สามารถปัสสาวะขับของเสียได้เหมือนคนปกติ โดยการฟอกไตสามารถทำได้ 2 ทาง คือ ฟอกทางหน้าท้อง ความถี่ในการฟอก 4-5 ครั้ง/วัน สามารถทำเองได้ที่บ้าน โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล และ ฟอกทางเลือด ความถี่ในการฟอก 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ทำผ่านเครื่องฟอก จึงจำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลหรือศูนย์ไตเทียมเท่านั้น ซึ่งการฟอกทางเลือดจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการฟอกทางหน้าท้อง ดังนั้นผู้ป่วยที่จะเข้ารับการฟอกไตจึงจำเป็นต้องมีเส้นฟอกไตก่อนทำการฟอกไต

เส้นฟอกไต คืออะไร
เส้นฟอกไต หรือที่เรียกว่าเส้นชีวิต เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเส้นเลือดกับเครื่องฟอกไต ทำหน้าที่ดูดเลือดจากร่างกายไปเข้าเครื่องฟอกไตและวนกลับมาสู่ร่างกายอีกครั้ง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เส้นจริง (AVF) และเส้นเทียม (AVG)
– เส้นจริง (AVF) เป็นการนำเส้นเลือดแดงไปต่อกับเส้นเลือดดำในร่างกายของเรา หลังจากต่อเสร็จ เส้นเลือดดำจะค่อยๆโตขึ้น ซึ่งจะง่ายต่อการแทงเข็มเข้าไปและฟอกไต

•ข้อดี
ใช้ได้นาน (อายุประมาณ 5 ปี )
ติดเชื้อยาก

•ข้อเสีย
ต้องมีเส้นเลือดดำส่วนตื้นที่คุณภาพดีก่อนผ่าตัด ต้องรอเส้นโตถึงจะใช้ได้ (1-3 เดือน)
– เส้นเทียม (AVG) เป็นเส้นเลือดสังเคราะห์ทางการแพทย์ นำไปฝังไว้ใต้ผิวหนังและต่อเข้ากับเส้นเลือดส่วนลึก

ข้อดี
สามารถใช้ได้เลยหลังผ่าตัด ( 2-14วัน )
ไม่ต้องมีเส้นเลือดส่วนตื้นที่คุณภาพดีก่อนผ่าตัด

•ข้อเสีย
อยู่ได้ไม่นานเท่าเส้นจริง (อายุประมาณ 2 ปี) ติดเชื้อง่าย อุดตันง่าย ราคาสูงกว่า
เมื่อมีเส้นฟอกไตในร่างกาย จะมีวิธีดูแลเส้นฟอกไตให้ใช้งานได้นานและมีประสิทธิภาพอย่างไร?

การดูแลเส้นฟอกไต
– บริหารแขนโดยการบีบลูกบอล
– สามารถงอแขนหรือใช้ชีวิตประจำวันได้
– หลีกเลี่ยงการใช้ข้อพับแขนข้างนั้นยกของหนัก
– หมั่นคลำอาการสั่น(ฟู่) บริเวณที่ผ่าตัด

แต่!!!หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ควรมาพบแพทย์ทันที
– คลำเส้นแล้วไม่มีอาการสั่น (ฟู่)
– มือมีสีคล้ำ
– มีอาการบวมแดงบริเวณจุดแทงเข็ม
– แขนบวม
– เลือดหยุดยากหลังจากนำเข็มฟอกไตออกจากเส้นฟอกไต
– ดูดเลือดไปฟอกไม่ได้ / ของเสียคลั่งในเลือด
ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เข้ารับการฟอกไตควรดูแลรักษาเส้นฟอกไตให้สามารถใช้งานได้ดีอยู่เสมอ และหมั่นสังเกตตัวเอง หากพบอาการผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและทำการรักษาต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก : อ.นพ.ปูรณ์ อภิชาติปิยกุล อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์หลอดเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง : นางสาวสมัชญา หน่อหล้า
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่