Skip to content

ภาวะปัสสาวะรดที่นอนในเด็ก: แนวทางใหม่จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คณะแพทย์ มช.

“คืนไหนไม่รดที่นอนคือความภูมิใจ: ร่วมเข้าใจหัวใจเด็กที่กำลังเติบโต”
ภาวะปัสสาวะรดที่นอน (Nocturnal Enuresis) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะในช่วงวัยก่อนเข้าเรียน เด็กส่วนใหญ่จะหยุดปัสสาวะรดที่นอนได้เองเมื่ออายุประมาณ 5 ปี อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กประมาณ 15% ที่ยังคงมีอาการอยู่ ซึ่งมักจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อโตขึ้น
ภาวะนี้สามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ปกครองคือ ต้องเข้าใจและไม่ตำหนิเด็ก เพราะนี่ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา
❇️สาเหตุของการปัสสาวะรดที่นอน
การปัสสาวะรดที่นอนอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย และในบางรายอาจมีมากกว่าหนึ่งสาเหตุร่วมกัน เช่น
1. ความผิดปกติของฮอร์โมนที่ควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ
2. ขนาดกระเพาะปัสสาวะเล็กกว่าปกติ
3. ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวบ่อย
4. เด็กนอนหลับลึกเกินไปจนไม่รู้ตัวเมื่อต้องการปัสสาวะ
5. ท้องผูกเรื้อรัง
6. การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
7. พันธุกรรม หากคนในครอบครัวเคยมีภาวะนี้มาก่อน
8. ความเครียดหรือความวิตกกังวล
9. ภาวะทางระบบประสาท เช่น โรคลมชัก
❇️แนวทางการดูแลและการรักษา
หากเด็กมีอายุเกิน 5 ปีแล้วยังมีอาการ ควรเริ่มจากการปรับพฤติกรรม โดยมีแนวทางดังนี้:
• ให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะที่เป็นอย่างเหมาะสม
• สร้างแรงจูงใจ เช่น การให้ดาวหรือรางวัลเล็ก ๆ เมื่อไม่มีอาการ
• หลีกเลี่ยงการตำหนิหรือทำให้เด็กอับอาย
• สนับสนุนให้เด็กมีส่วนร่วมในกระบวนการรักษา
• ดื่มน้ำให้เพียงพอในช่วงกลางวัน (วันละ 6–8 แก้ว)
• งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โกโก้ น้ำอัดลม
• หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำก่อนนอนประมาณ 1 ชั่วโมง
• ไม่ควรรับประทานของว่างก่อนนอน
• ลดการใช้หน้าจอก่อนเข้านอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
• เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนนอน
• นอนให้ตรงเวลาและพักผ่อนให้เพียงพอ
• ฝึกขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา และดูแลไม่ให้ท้องผูก
หากทำตามแนวทางเหล่านี้ต่อเนื่อง 1–2 เดือนแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อประเมินเพิ่มเติม แพทย์อาจพิจารณาการรักษาเพิ่มเติม เช่น
• ยาที่ลดปริมาณปัสสาวะในตอนกลางคืน
• อุปกรณ์ปลุกเตือนเมื่อมีการปัสสาวะรดที่นอน
• ยาลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
• ยารักษาภาวะซึมเศร้าในบางราย
• การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ หากจำเป็น
❇️ความร่วมมือของแพทย์หลายสาขาเพื่อการดูแลที่เหมาะสม
ชมรมปัสสาวะรดที่นอนแห่งประเทศไทย (Nocturnal Enuresis Society of Thailand – NEST) ซึ่งประกอบด้วยทีมแพทย์จากหลายสาขา ได้แก่ ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ กุมารแพทย์โรคไต กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม และจิตแพทย์เด็ก ได้จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับการดูแลเด็กที่มีภาวะปัสสาวะรดที่นอน ประจำปี 2567 เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะเด็กแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Association of Pediatric Urologist – APAPU) ยังมีกำหนดจัดการประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 25 ที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 2–4 ตุลาคม พ.ศ. 2568 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านโรคระบบทางเดินปัสสาวะในเด็ก รวมถึงภาวะปัสสาวะรดที่นอน
▪️ภาวะปัสสาวะรดที่นอนในเด็กเป็นเรื่องที่รักษาได้ หากเข้าใจและให้ความสำคัญอย่างเหมาะสม การดูแลอย่างเข้าใจโดยไม่ตำหนิจะช่วยให้เด็กมีความมั่นใจและสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้น อย่าลังเลที่จะขอคำแนะนำจากแพทย์ เพราะการแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธีจะช่วยให้เด็กก้าวข้ามช่วงเวลานี้ได้อย่างมั่นใจ
ขอบคุณข้อมูลจาก : ผศ.นพ.จรัสพงศ์ วุฒิวงศ์ และรศ.นพ.พิษณุ มหาวงศ์
อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่