โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เตรียมความพร้อมในด้านของห้องฉุกเฉินในการซ้อมแผนเตรียมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อพบผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อให้มีความพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นจริง
ผศ.นพ.บริบูรณ์ เชนธนากิจ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า“สาเหตุที่ทางโรงพยาบาลฯได้เตรียมความพร้อมในด้านของห้องฉุกเฉินในการซ้อมแผนเตรียมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว เนื่องจากตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจมีผู้ป่วยที่ไม่สามารถไปตรวจได้ที่หน่วยโรคปอด หรือ PUI Clinic ซึ่งเป็นที่คัดกรองและรักษาผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ สอบสวนโรค ตามมาตรฐานองค์กรระดับชาติ ที่เราเตรียมรองรับผู้ป่วยโดยตรง ผู้ป่วยอาจจะต้องได้เข้ามารับบริการที่ห้องฉุกเฉินก่อนจึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อมีผู้ป่วยเข้ามาจุดคัดกรองหน้าห้องฉุกเฉินหากพบว่ามีอาการทางเดินหายใจ หายใจเหนื่อยหอบ มีไข้สูง ไม่สามารถไปตรวจเองได้ทันที ต้องมารับการรักษาเบื้องต้นก่อน หรือที่เลวร้ายที่สุดคือมีภาวะหัวใจหยุดเต้น โดยการซ้อมแผนในครั้งนี้ ได้จำลองเหตุการณ์ค่อนข้างซับซ้อนมีผู้ป่วยเข้ามาพร้อมกันถึง 3 ราย จึงต้องมีการวางแผนในด้านของอุปกรณ์ สถานที่ และบุคลากรว่ามีความพร้อมแค่ไหน โดยสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงก็คือความปลอดภัยของบุคลากรซึ่งต้องสวมชุดเพื่อป้องกันตนเองก่อนที่จะสัมผัสผู้ป่วย ดังนั้นชุดป้องกันต้องมีมาตรฐาน มีความเหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการทดสอบว่าบุคลากรถอดชุด สวมชุดป้องกันได้ถูกต้องปลอดภัยหรือไม่ และเมื่อพบว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง ต้องแยกตัวผู้ป่วยไม่นำไปรวมอยู่กับผู้ป่วยฉุกเฉินทั่วไป โดยทางโรงพยาบาลฯได้จัดเตรียมสถานที่แยกออกไปเป็นพื้นที่เฉพาะ มีอุปกรณ์เพื่อช่วยชีวิต และนำกระโจมมาป้องกันเพื่อไม่ให้เชื้อที่ออกมาจากทางเดินหายใจของผู้ป่วยนั้นเล็ดลอดออกมาได้ จากนั้นจึงทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยัง PUI Clinic ต่อไป จากการซ้อมแผนครั้งนี้ มีคณะผู้บริหารและทีมแพทย์หลายด้านร่วมให้คำแนะนำ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง พัฒนาในการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ หากมีเหตุเกิดขึ้นจริง
ผศ.นพ.บริบูรณ์ เชนธนากิจ ได้กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า “ขอความร่วมมือผู้ป่วย หากป่วย มีไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจอย่าปกปิดข้อมูล หรือปกปิดประวัติเสี่ยง เพื่อทีมแพทย์จะได้วินิจฉัยรักษา และเตรียมความพร้อมได้ทันท่วงที“