Skip to content

เอาตัวรอดอย่างไรในสถานการณ์ COVID-19

      เป็นเวลานานกว่า 3 เดือน กับการระบาดของโรค COVID-19  ได้แพร่ระบาดไปในหลายประเทศ มีคนไข้รายใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง และสร้างความกังวลใจในการใช้ชีวิตของผู้คน ดังนั้นการรับมือในช่วงสถานการณ์ COVID-19 สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการศึกษาแนวทางในการป้องกันตนเอง รับฟังข้อมูลข่าวสารจากทางรัฐ หรือแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้อย่างมีสติ “ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก” ไม่ปกปิดข้อมูล และมีความรับผิดชอบต่อสังคม หากมีอาการเจ็บป่วยหรือสงสัยให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

     ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า “ตั้งแต่ที่มีรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 รายแรกในประเทศจีน ปัจจุบันมีรายงานผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศ สำหรับในประเทศไทยตอนนี้ก็ทำการป้องกันอย่างเต็มที่ ทางโรงพยาบาลมหารานครเชียงใหม่ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยและผู้ใช้บริการ ตลอดจนบุคลากรทุกท่าน จึงได้มีมาตรการตามนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยมีมาตรการตั้งรับและมาตรการเชิงรุกเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ดังกล่าว อาทิ กำหนดทางเข้าออกของรพ. ติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกน ตรวจวัดอุณหภูมิ, บริการเจลล้างมือแอลกอฮอล์ มีการคัดกรองผู้ป่วยทุกคน และเตรียมพร้อมบุคลากร เจ้าหน้าที่ในการดูแล คัดกรอง ตรวจสอบผู้ป่วยที่มีอาการ หรือมีความเสี่ยง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศจีน และประเทศกลุ่มเสี่ยง ตลอดจนทางคณะฯได้ออกประกาศขอความร่วมมือบุคลากรงดเดินทางไปในประเทศที่มีความเสี่ยงสูง และ ประเทศที่มีรายงานยืนยันการติดเชื้อ COVID-19 อีกด้วย

กำหนดทางเข้าออกของรพ. ติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกน ตรวจวัดอุณหภูมิ

บริการเจลล้างมือแอลกอฮอล์ 

        นอกจากนี้ทางรพ.ยังได้เพิ่มจุดบริการที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่ URI Clinic ที่ตรวจรักษาคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัด และ PUI Clinic ที่คัดกรองและรักษาผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ สอบสวนโรค ตามมาตรฐานองค์กรระดับชาติ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรและคนไข้ทุกคน อีกทั้งยังเข้มงวดและเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดสถานที่และอุปกรณ์ในโรงพยาบาลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อคุณภาพสูงทุก 1ชั่วโมง เน้นย้ำอีกสิ่งที่สำคัญคือการ รับฟังข้อมูลข่าวสารจากทางรัฐ หรือแหล่งที่เชื่อถือได้อย่างมีสติ ให้มีความตระหนักแต่ไม่ตื่นตระหนกจนเกินเหตุ

 

     ในด้านของมาตรการเชิงรุกนั้น ทางภาควิชา​เวชศาสตร์​ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้จัดโครงการลงพื้นที่ สร้างความตระหนักและแนวทางในการป้องกันโรคปอดอักเสบจากเชื้อ COVID-19 โดยให้ทราบถึงแนวทางการป้องกัน​ การเฝ้าระวัง การคัดกรองในชุมชน การวางแผนการเดินทางและท่องเที่ยว ทั้งจัดให้มีการสาธิตและสอนการล้างมืออย่างถูกวิธี ให้กับสถานศึกษา และสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน ในจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย”

 

 

  

     ทางด้านของการป้องกันตนเองในสถานการณ์ COVID-19 อ.นพ. ปรเมษฐ์ วินิจจะกูล อาจารย์ประจำหน่วยโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า “ลักษณะการแพร่เชื้อไวรัสนี้ เหมือนกับไวรัสอื่นๆ นั่นคือ ผ่านละอองฝอย มีการไอ จาม น้ำมูกหรือเสมหะที่มีไวรัสอยู่ รวมถึงการที่ไวรัสปนเปื้อนกับมือและสิ่งต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน พอสัมผัสก็มีโอกาสที่ไวรัสติดไปได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องระวังก็คือ มือ เพราะมือมีโอกาสสัมผัสเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า, ปาก, จมูก และดวงตาเนื่องจากอาจเป็นช่องทางที่ไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดการติดเชื้อได้ และจากที่มีข่าวว่ามีการติดต่อทางลมหายใจ หรือทางอากาศ ในกรณีนั้นเป็นกรณีพิเศษเช่นพื้นที่ปิดเป็นเวลานาน มีผู้คนอยู่รวมกันปริมาณมาก ยกตัวอย่างเช่นบนเรือสำราญ เป็นต้น

       ดังนั้นการป้องกันตนเองที่ดีที่สุดคือการหมั่นล้างมือบ่อยๆให้สะอาด ถูกตามขั้นตอน  ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล เพราะถือเป็นหนึ่งในวิธีช่วยป้องกันไวรัส COVID-19 ได้ดีที่สุด หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังแหล่งชุมนุมชน สถานที่แออัด เช่นโรงภาพยนตร์ ห้องประชุม ฯลฯ หากจำเป็นต้องเดินทางไปยังแหล่งชุมชน ขอให้สวมใส่หน้ากากอนามัย สำหรับอาการเบื้องต้นที่สังเกตได้จากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ “COVID-19” มีดังนี้ มีไข้สูง มากกว่า 37.5 องศา, ไอ เจ็บคอ, คัดจมูก ,หอบเหนื่อย หายใจลำบาก หากมีอาการเหล่านี้ หรือมีประวัติเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงภายใน 14 วัน โปรดโทรศัพท์แจ้งที่หมายเลข 093-6931535 เพื่อขอคำปรึกษาก่อน จากนั้นทางรพ.จะมีการคัดกรองเพื่อส่งต่อที่ URI Clinic คลินิกโรคไข้หวัด หรือหากมีความเสี่ยงสูง ส่งทางรพ.จะส่งต่อที่ PUI Clinic สำหรับกลุ่มผู้ที่ไม่มีอาการ แต่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ต้องการมาตรวจโดยไม่เข้าเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณะสุข อาจมีค่าใช้จ่ายดังกล่าว เน้นย้ำอีกสิ่งที่สำคัญคือการไม่ปกปิดข้อมูล อาการหรือประวัติการเดินทาง หากจำเป็นต้องเดินทางไปในประเทศพื้นที่เสี่ยง สิ่งที่ควรปฎิบัติอย่างเคร่งครัด คือ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และไม่อยู่ใกล้ผู้ป่วยไอ จาม หากเลี่ยงไม่ได้ ให้ใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน  ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และเมื่อกลับมาถึงประเทศไทย ขอให้กักตัวเองอยู่ในบ้านพัก 14 วัน เพื่อสังเกตอาการตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส หากพบอาการทางระบบทางเดินหายใจ มีไข้ ให้โทรศัพท์ขอคำปรึกษาและพบแพทย์ทันที”

     คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวทิ้งท้ายด้วยความห่วงใย “ขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ และช่วยกันสร้างสุขอนามัยที่ดี ด้วยการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปที่ชุมชน” หากเป็นผู้ป่วย หรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ควรหยุดอยู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น การรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เริ่มต้นได้ที่ตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง

     ติดตามรับชมการสัมภาษณ์ เอาตัวรอดอย่างไรในสถานการณ์ COVID-19 ได้ที่ FacebooK เพจสุขภาพดีกับหมอสวนดอก https://www.facebook.com/SuandokGoodHealth2018/videos/1053955388296408/

 

******************************************************************