Skip to content

คลิป 84 ปี อาคารโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ สู่อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู | รักษาคนด้วยใจ รักษากายด้วยนวัตกรรม

✨84 ปี อาคารโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ สู่อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู
“รักษาคนด้วยใจ รักษากายด้วยนวัตกรรม”

🏥 อาคารประวัติศาสตร์ เริ่มต้นขึ้น 84 ปีก่อน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ในฐานะ อาคารหลังแรกของ “โรงพยาบาลนครเชียงใหม่” นับเป็นรากฐานที่มั่นคงของระบบสาธารณสุขในเชียงใหม่และภาคเหนือ


📍รับชมผ่าน

Facebook: https://cmu.to/Hxcj9
Youtube: https://cmu.to/aRr4o


อ่านข่าวเพิ่มเติม

พิธีทำบุญ 84 ปี “อาคารโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ สู่อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู”


#MedCMU #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #แพทย์เชียงใหม่ #แพทย์มช #หมอสวนดอก #แพทย์สวนดอก #โรงพยาบาลสวนดอก #MedCMUในมือคุณ #สื่อสารองค์กรMedCMU


กว่า 84 ปี อาคารโรงพยาบาลนครเชียงใหม่
สัญลักษณ์ของการเริ่มต้นครั้งสำคัญ ของระบบบริการสาธารณสุขในภาคเหนือของประเทศไทย

 

ปี พ.ศ. 2482

รัฐบาลได้พิจารณาหาที่ดินที่เหมาะสมในการจัดสร้างโรงพยาบาล เพื่อจะขยายงานด้านตรวจรักษาประชาชนผู้เจ็บป่วยในจังหวัดเชียงใหม่ จากอดีตที่มีโรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่เพียงแห่งเดียว ในที่สุดได้ตกลงซื้อที่ดินบริเวณนอกประตูสวนดอก มีเนื้อที่ 30 ไร่ 80 ตารางวา และได้ขอแบบอาคารไปยังกรมสาธารณสุขเพื่อก่อสร้างอาคารโรงพยาบาล และทำการก่อสร้างแล้วเสร็จในปีเดียวกัน โดยตัวอาคารเป็นตึก 2 ชั้น ยาว 40 เมตร และกว้าง 12 เมตร


ปี พ.ศ. 2483

ได้รับเงินสมทบเพื่อก่อสร้างตึกผู้ป่วย 2 ชั้น ทางด้านขวาของตึกโรงพยาบาลหลังแรก (ตึกอำนวยการ) มีเตียงรับผู้ป่วย 50 เตียง นอกจากนั้น ยังมีการสร้างโรงครัว โรงซักฟอกและโรงพักศพ ขณะเดียวกันกรมสาธารณสุข ยังได้จัดสร้างถังน้ำให้กับโรงพยาบาล

 

ปี พ.ศ. 2484

ต่อมา เมื่อก่อสร้างเสร็จสิ้นพอที่จะเปิดบริการผู้ป่วยได้ เทศบาลมีปัญหาในการจัดหาแพทย์มาปฏิบัติงาน จึงได้โอนโรงพยาบาลแห่งนี้ให้ไปสังกัดในกรมสาธารณสุข เมื่อปี พ.ศ. 2484 และมอบเครื่องมือแพทย์ของโรงพยาบาลเก่าให้นำไปใช้ในโรงพยาบาลที่เปิดใหม่เกือบทั้งหมด พร้อมกับมีการตกลงให้ใช้ชื่อโรงพยาบาลว่า “โรงพยาบาลนครเชียงใหม่” และเปิดบริการผู้ป่วยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484

 

ปี พ.ศ. 2485

กรมสาธารณสุขได้โอนโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ให้ไปสังกัดกรมการแพทย์เพื่อดำเนินการต่อไป


ปี พ.ศ. 2500

เนื่องในการที่รัฐบาลได้ดำริจัดตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 3 ขึ้นในส่วนภูมิภาคในจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้มีโครงการที่จะโอนกิจการของโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ไปสังกัดคณะแพทยศาสตร์ และในวันที่ 1 มกราคม 2502 ได้โอนโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ของกระทรวงสาธารณสุข มาสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

 

วันที่ 28 ตุลาคม 2502

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งต่อมาได้ถือเอาวันนี้เป็นวัน “ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่”

 

วันที่ 19 กรกฎาคม 2503

มีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กล่าวคือ ได้โอนกิจการของโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ไปสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งในขณะนั้น โรงพยาบาลฯ มีเตียงสำหรับผู้ป่วยใน 120 เตียง และเป็นโรงพยาบาลทั่วไปที่เป็นของราชการเพียงโรงพยาบาลเดียวในตัวเมืองเชียงใหม่

 

จวบจนเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2503 ได้มีการย้ายนักศึกษาแพทย์ทั้งหมดจากกรุงเทพมหานคร มาเรียนที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกันนี้ก็รับแพทย์ฝึกหัดรุ่นแรกของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มาให้การฝึกอบรมในโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ใน เดือนเมษายน 2504

 

นับได้ว่า อาคารโรงพยาบาลนครเชียงใหม่แห่งนี้เป็นสถานที่ในการเริ่มการสอนนักศึกษาแพทย์รุ่นแรก และฝึกอบรมแพทย์ฝึกหัดรุ่นแรกไปในเวลาเดียวกัน


วันที่ 17 มิถุนายน 2504

ได้เริ่มมีการก่อสร้างอาคารหลักหลังแรก เป็นอาคาร 7 ชั้น ที่เป็นทั้งอาคารเรียนและโรงพยาบาล จนในที่สุด คณะแพทยศาสตร์ได้ย้ายโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ จากอาคารแห่งนี้ไปยังอาคาร 7 ชั้นในวันที่ 12 สิงหาคม 2512

 

ปี พ.ศ.2512 ภาควิชาทันตแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์

ได้ใช้เป็นห้องตรวจ ห้องเอกซเรย์ ห้องอุดฟันและถอนฟัน และเป็นสถานที่ทำงานของภาควิชา แม้ต่อมาจะได้รับการประกาศเป็นคณะทันตแพทยศาสตร์แล้ว ก็ยังใช้สถานที่แห่งนี้ทำการสอน การวิจัย และบริการผู้ป่วยเรื่อยมาจนถึงปี 2519 จึงย้ายไปยังที่ตั้งของคณะทันตแพทยศาสตร์ในปัจจุบัน

 

ปี พ.ศ.2519 ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์

ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นคณะเทคนิคการแพทย์ และใช้อาคารแห่งนี้เป็นที่เรียนของสาขาวิชาอาชีวบำบัด ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ภาควิชากิจกรรมบำบัด” โดยชั้นล่างเป็นที่ฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาและภาควิชา ส่วนชั้นบนของอาคารเป็นหอผู้ป่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู

 

วันที่ 15 มกราคม 2524

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมภาควิชาออร์โทปิดิกส์และกายภาพบำบัด พระราชทานเงินทุนสมทบมูลนิธิสงเคราะห์และฟื้นฟูผู้ป่วยพิการฯ และทรงเยี่ยมชมแผนกอาชีวบำบัด

 

วันที่ 12 ธันวาคม 2540

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานเครื่องตรวจ Urodynamic ให้แก่ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู และทรงเยี่ยมผู้ป่วยที่มาทำการรักษา


ปี พ.ศ 2545

เมื่ออาคารเรียนและปฏิบัติการ คณะเทคนิคการแพทย์ แล้วเสร็จ ภาควิชากิจกรรมบำบัด จึงได้ย้ายออกไปยังอาคารคณะเทคนิคการแพทย์

ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู จึงขอให้คณะแพทยศาสตร์ ปรับปรุงอาคารหลังนี้ให้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อรองรับผู้ป่วยของภาควิชาฯ ในการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายผู้ป่วยต่อไป


อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู แห่งนี้ได้ผ่านการปรับปรุงมา 3 ครั้ง
  1. ปี พ.ศ.2512 หลังจากโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ย้ายที่ทำการไปยังอาคาร 7 ชั้น
  2. ปี พ.ศ.2545 ปรับปรุงเพื่อรองรับผู้ป่วยของภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
  3. ปี พ.ศ.2555 ปรับปรุงอาคารครั้งใหญ่

 

ปี พ.ศ.2563

ในช่วงสถานการณ์โควิด อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟูได้รับการปรับปรุง เพื่อใช้เป็นหอผู้ป่วย รองรับการดูแลผู้ป่วย COVID-19 จำนวน 30 เตียง

 

ปัจจุบัน อาคารหลังนี้เป็นที่ตั้งของภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู และให้บริการทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู
  • หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก OPD20 ให้บริการแก่ผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นฟูสภาพ โดนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการฝึกช่วยเหลือตัวเอง ตามระดับความสามารถสูงสุดในการพึ่งพาตนเองโดยปราศจากภาวะแทรกซ้อน
  • คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนไหวและการทำงานของระบบประสาท
  • คลินิกกระตุ้นสมองแบบไม่ผ่าตัด (NIBS) อาศัยการใช้เครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
  • หน่วยตรวจไฟฟ้าวินิจฉัย แก่ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท
  • หน่วยกายภาพบำบัด แก่ผู้มารับบริการที่เป็นผู้ป่วย ผู้พิการ ทางด้านระบบประสาท ระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ ระบบทางเดินหายใจ
  • หน่วยกิจกรรมบำบัด ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ ตามมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยผู้พิการสามารถดำรงชีวิตได้ตามศักยภาพและไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากความบกพร่องด้านโครงสร้างและการทำงานของร่างกาย รวมถึงพัฒนางานสู่งานวิจัยและนวัตกรรม
  • หน่วยเครื่องช่วยคนพิการ ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเคลื่อนไหวด้วยกายอุปกรณ์
  • กลุ่มดนตรีบำบัด สำหรับผู้ป่วยและผู้พิการทางกาย

ตลอดระยะเวลากว่า 84 ปีที่ผ่านมา… อาคารหลังนี้มิได้เป็นเพียงสถานที่แห่งการรักษา แต่คือศูนย์รวมของความหวัง ความเชื่อมั่น และหัวใจของผู้คนมากมาย และแม้วันเวลาจะผ่านไปเพียงใด… ความหมายของอาคารหลังนี้ ยังคงดำรงอยู่ เป็นดั่งรากฐานอันมั่นคงของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่