
การนวดไทยในบริเวณคอจะทำให้ผู้นวดเสียชีวิตนั้น มีโอกาสเป็นไปได้น้อย เนื่องจากปัจจุบันการนวดแผนไทยเป็นศิลปะแขนงหนึ่งในการรักษาและบรรเทาอาการปวด เป็นที่นิยมมากทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก มีการสร้างรายได้และสร้างงานมหาศาล หลักการสำคัญของการนวดแผนไทยคือทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อ เพิ่มการไหลเวียนโลหิต มีผลทำให้อาการปวดตึงลดลง และช่วยลดความเครียด
ไม่ควรนวดบริเวณคอในโรคใดบ้าง
ไม่แนะนำให้มีการนวดหรือดัดบริเวณกระดูกสันหลังระดับคอหรือเอวในคนที่มีภาวะดังต่อไปนี้
1. มีภาวะการตีบแคบ (Stenosis) ของโพรงรากประสาทหรือโพรงไขสันหลังอยู่แล้ว เนื่องจากการนวดอาจทำให้มีการตีบแคบมากขึ้นและอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงของเส้นประสาทหรือไขสันหลังขึ้น
2. มีภาวะการหลวมของกระดูกสันหลังหรือข้อต่อกระดูกสันหลัง (Instability) เช่น ผู้ป่วยที่มีการเคลื่อนของกระดูกสันหลัง (Spondylolisthesis) หรือมีการหลวมของข้อต่อบริเวณคอช่วงบน (C1-2 instability) การนวดในภาวะที่มีการหลวมดังกล่าวอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรงของเส้นประสาทและไขสันหลังได้
3. มีภาวะอักเสบ (Inflammation) ของข้อต่อหรือหมอนรองกระดูก การนวดอาจทำให้เกิดการปวดรุนแรงขึ้นได้
4. มีโรคประจำตัวบางอย่างที่สำคัญ เช่น โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ ,โรคหัวใจ ,โรคหลอดเลือดตีบหรือตัน, มีภาวะติดเชื้อบริเวณกระดูกสันหลัง, มีเนื้องอกหรือมะเร็งกระดูก, รวมถึงมีภาวะกระดูกพรุน(Osteoporosis) เป็นต้น
โดยปกติทางการแพทย์จะมีภาวะที่ต้องพึงระวัง (Red flag signs) ที่พบร่วมกับอาการปวดคอ เช่น ปวดคอร่วมกับมีไข้ ,มืออ่อนแรง-ชา , แขนขาอ่อนแรง ,ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ ,มีประวัติเนื้องอกหรือมะเร็ง เป็นต้น เมื่อมีภาวะดังกล่าวร่วมกับอาการปวดคอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์
การนวดควรพิจารณาอะไรบ้าง
โดยปกติการนวดมีจุดประสงค์หลักอยู่ 2 ประการคือ นวดเพื่อบำบัดรักษาอาการปวดหรือกล้ามเนื้อตึง และนวดเพื่อผ่อนคลายความเครียด ก่อนนวดควรพิจารณา 3 ประเด็นดังต่อไปนี้
1. สาเหตุของอาการปวด สาเหตุที่เหมาะสมสำหรับการนวดบำบัดคือกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นตึงตัวเช่น ภาวะออฟฟิศซินโดรม
2. โรคประจำตัว ผู้มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ อาจมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ เช่น โรคกระดูกพรุน , ผู้ที่มีการตีบแคบของโพรงรากประสาทอยู่แล้ว , มีการหลวมของหมอนรองกระดูกหรือข้อต่อกระดูกสันหลัง , มีภาวะติดเชื้อหรือมะเร็ง , มีการอักเสบเรื้อรัง เช่น โรครูมาตอยด์ เป็นต้น
3. ผู้นวดบำบัดมีความเชี่ยวชาญหรือผ่านการรับรอง
ถ้านวดแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรทำอย่างไร
ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุของอาการดังกล่าว
โดยสรุปการนวดแผนไทยเพื่อบำบัดรักษาอาการปวดและลดความเครียดเป็นวิธีที่ดีมาก โดยเฉพาะสาเหตุการปวดมาจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ แต่ถ้ายังไม่มั่นใจหรือมีภาวะเสี่ยงดังกล่าว ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุของอาการก่อน
ขอบคุณข้อมูลจาก : อ.นพ.สุทธิภาศ พงศ์มณี หน่วยกระดูกสันหลัง ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาลัยวิทยาลัยเชียงใหม่
953