Skip to content

อาคารสุจิณโณ ได้เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2522 45 ปีที่ผ่านมา…

อาคารสุจิณโณ ได้เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2522 วันนี้เมื่อ 45 ปีที่แล้ว

จากแรงศรัทธาสู่ที่มาอาคารสุจิณฺโณ จากวันวานสู่วันนี้65ปีแพทย์เชียงใหม่

ด้วยจิตศรัทธาอันแรงกล้าที่ปรารถนาจะสร้างอาคารผู้ป่วยเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ของบุคคล ผู้เจ็บไข้ได้ป่วย และยังเพื่อเป็นที่ระลึกในมงคลสมัยที่

หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง เจริญอายุครบ 90 พรรษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2521

พระภิกษุสงฆ์และศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่แหวน จึงได้ร่วมมือร่วมใจจัดสร้างอาคารผู้ป่วย 15 ชั้น ซึ่งต่อมามีชื่อว่า “อาคารสุจิณฺโณ”


ผู้ออกแบบ

อาคาร “สุจิณฺโณ” ออกแบบโดยสำนักงานสถาปนิกแอนเดอร์สัน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และเริ่มก่อสร้างโดยบริษัท พระนครก่อสร้าง จำกัด



การออกแบบที่คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและความสวยงามของอาคารสุจิณฺโณ
ความโดดเด่นของอาคารผู้ป่วยสุจิณฺโณ

คือ ลักษณะของตัวอาคารที่ผายออกทั้งสองปีกเป็นรูปโค้ง ดูงดงาม ด้านทิศใต้ของอาคารออกแบบให้โอบรับกับฐานพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย



จุดที่น่าสนใจของการออกแบบอาคารหลังนี้

คือ การใส่ท่อน้ำอุ่นโดยเป็นท่อทองแดงตลอดความสูงของอาคาร เพื่อให้อายุการใช้งานคงทนถาวรเคียงคู่ไปกับอายุของตึก ท่อน้ำทองแดงนี้มีคุณสมบัติพิเศษที่ไม่เป็นสนิมต้องฝังเข้าไปในตัวตึก เป็นท่อน้ำอุ่นที่ใช้ต่อเชื่อมจากเครื่องทำความร้อนด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งไว้บนหลังคาของอาคาร เพื่อให้แพทย์พยาบาลและผู้ป่วยโดยเฉพาะเด็ก และคนชรา ได้ใช้น้ำอุ่นในการชำระร่างกายเพื่อความสบาย


ปัญหาสำคัญที่ต้องคำนึง

สำหรับอาคารสูง 15 ชั้น คือ การป้องกันเพลิงไหม้ สถาปนิกได้ออกแบบโดยใช้วัสดุทนไฟเป็นส่วนใหญ่ พร้อมทั้งระบบสัญญาณแจ้งเพลิงไหม้ที่ทันสมัยและมีหัวฉีดชั้นละ 3 หัว ติดตั้งไว้บริเวณปลายทั้งสามมุมของอาคาร โดยใช้น้ำจากถังเก็บน้ำที่ตั้งอยู่บนอาคาร


บันไดหนีไฟ

ซึ่งใช้เป็นบันไดติดต่อระหว่างชั้นได้ด้วย อยู่ทั้งสามมุมของอาคาร หากเกิดเหตุวิกฤตทุกคนที่อยู่แต่ละชั้นจะสามารถไปถึงบันไดได้โดยทันที และไม่เกิดความชุลมุน เพราะออกแบบให้เป็นบันไดมาตรฐานมีความกว้างและการก้าวย่างที่พอเหมาะเหมือนบันไดปกติ


อาคารสุจิณฺโณนับเป็นอาคารประวัติศาสตร์

อาคารสุจิณฺโณนับเป็นอาคารประวัติศาสตร์ได้ด้วยเหตุผลทางการก่อสร้างอีกประการหนึ่ง คือ การศึกษาสำรวจรากฐานที่ดีเยี่ยมตามหลักวิชาการธรณีวิทยา และวิศวกรรมศาสตร์

โครงสร้างของอาคารสุจิณฺโณ

โครงสร้างของอาคารสุจิณฺโณทั้งหมด เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาคาน พื้น และผนัง เป็นคอนกรีตเปลือยไม่ฉาบปูน ทำให้ประหยัดค่าก่อสร้างและไม่เกิดปัญหาการแตกร้าวของปูนฉาบในภายหลัง การขุดเจาะเสาเข็มด้วยวิธีการที่ทันสมัย เพื่อความแข็งแรงและรองรับผลกระทบจากแผ่นดินไหว อาคารหลังนี้มีปริมาณเนื้อที่การใช้สอยทั้งอาคาร 29,528 ตารางเมตร



อาคารอนุสรณ์ “สุจิณฺโณ” แห่งนี้

เป็นอาคารที่ยังประโยชน์และเสริมสร้างคุณค่าของการบริหาร และการใช้บริการของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ให้มีประสิทธิภาพสูง คนป่วยที่เข้ามาพักพิงในอาคารหลังนี้ จะได้รับความปลอดโปร่งทางด้านจิตใจไปด้วยว่า เป็นอาคารที่สร้างขึ้นมาจากบารมีของหลวงปู่แหวน ช่วยทำให้ภาวะจิตใจของผู้ป่วยดีขึ้นด้วยกำลังใจ สมดังเจตนารมย์ของผู้ริเริ่มให้มีการสร้างอาคารพยาบาลนี้…


📍ติดตามผ่าน

Facebook: https://cmu.to/bK6Xp

Instragram: https://cmu.to/u4so6


ภาพ: สื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เนื้อหา: หนังสือจากวันวานสู่วันนี้ 65 ปี แพทย์เชียงใหม่


#จากวันวานสู่วันนี้65ปีแพทย์เชียงใหม่ #สุจิณฺโณ #หลวงปู่แหวน #65thMedCMU #MedCMU #MedCMUในมือคุณ #สื่อสารองค์กรMedCMU