การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม (Total Hip Arthroplasty)

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม (Total Hip Arthroplasty)

ผศ.ดร.นพ. สักกาเดช ลิ้มมหาคุณ
ภาควิชา ออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 1. ปัญหาโรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip Arthritis)
โรคข้อสะโพกเสื่อมเป็นการอักเสบของข้อสะโพกที่เกิดจากกระดูกอ่อนที่คลุมพื้นผิวของข้อเสื่อมสลายไปจากสาเหตุต่าง ๆ ได้แก่

           – การบาดเจ็บบริเวณข้อสะโพก เช่น ข้อสะโพกเคลื่อนหลุดหรือแตกหัก (Hip Fracture/Dislocation)
– ความผิดปกติของข้อสะโพก เช่น เบ้าสะโพกตื้นกว่าปกติ (Dysplastic Hip)
– โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือ โรคข้ออักเสบอื่นๆ (Inflammatory Arthritis)
– การขาดเลือดไปเลี้ยงที่หัวกระดูกต้นขา (Avascular Necrosis)
– การติดเชื้อในข้อสะโพก (Septic Arthritis)

 2. อาการของโรคข้อสะโพกเสื่อม
อาการแสดงเริ่มแรกเมื่อมีปัญหาข้อสะโพกเสื่อม คือ อาการปวดบริเวณขาหนีบหรือต้นขาด้านหน้า การเคลื่อนไหวข้อสะโพกติดขัด อาการมักจะเป็นมากขึ้นเวลาขยับ และจะดีขึ้นเมื่อได้พัก เมื่อมีการอักเสบของโรคข้อสะโพกเสื่อมเป็นเวลานานนาน ผู้ป่วยจะเลี่ยงการขยับข้อสะโพกเพื่อลดอาการปวด ส่งผลให้เกิดข้อยึดติด และไม่สามารถหมุนหรือเหยียดข้อสะโพกได้ กล้ามเนื้อต้นขาลีบ และอ่อนแรงลง
ในบางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยปัญหาขาสั้นยาวไม่เท่ากัน หากอาการรุนแรงอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเดิน การแต่งตัว ผูกเชือกรองเท้า ขึ้นลงบันได รวมถึงการนอนหลับ ถ้าท่านมีอาการเหล่านี้ให้สงสัยภาวะความผิดปกติในข้อสะโพก
เมื่อมาตรวจที่คลินิกโรคข้อเสื่อม และ ข้อเทียม ท่านจะได้รับการซักประวัติอาการเจ็บป่วยและการตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากแพทย์สงสัยความผิดปกติที่ข้อสะโพก แพทย์จะทำการส่งตรวจเอกซเรย์, การสแกนด้วยคอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ตามหลักมาตรฐานสากล เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แม่นยำ

 3. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม (Hip Arthroplasty)
ในกรณีที่โรคข้อสะโพกเสื่อมขั้นรุนแรง หรือ ผ่านการรักษาด้วยยา ร่วมกับการทำกายบริหาร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แล้วอาการไม่ดีขึ้น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพื่อลดอาการปวด เพิ่มพิสัยการขยับของข้อ และแก้ไขปัญหาขาสั้นยาวไม่เท่ากัน ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

          การผ่าตัดข้อสะโพกเทียม ได้ผลดีเยี่ยม โดยมีอายุการใช้งาน 10 ปี และ 15 ปี เท่ากับ 95% และ 92% วัสดุของแกนและเบ้าสะโพกเทียม ผลิตมาจาก โลหะผสมไททาเนียม และ/หรือ โคบอลต์โครเมียม ที่มีความปลอดภัยต่อร่างกายคน และได้มาตรฐานการรับรองสากล จากประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA) ในกรณีที่กระดูกผู้ป่วยมีความบอบบางมาก แพทย์จะพิจารณาการใช้ซีเมนต์ (Bone cement) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงกระดูก (Cemented Implant) แต่ในกรณีปกติทั่วไป แพทย์จะเลือกใช้แกนสะโพกเทียมชนิดที่ไม่ใช้ซีเมนต์ (Cementless Implant)เพื่อให้เกิดการยึดเกาะระหว่างแกนข้อสะโพกกับกระดูกผู้ป่วยโดยตรง ผิวข้อสะโพกเทียม ทำมาจากวัสดุหลายประเภท เช่น หัวสะโพกโลหะ/เซรามิก และเบ้าสะโพกเทียมโพลิเมอร์/เซรามิก การเลือกวัสดุผิวข้อ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ แพทย์ ผู้ป่วย และ งบประมาณค่าใช้จ่าย
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมในปัจจุบันไม่น่ากลัวอีกต่อไป เนื่องจากการให้ยาลดอาการปวดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นร่วมกับเทคนิคการผ่าตัดสมัยใหม่ ทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น และโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยเดินได้ทันทีภายในหนึ่งวันหลังผ่าตัดถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ทำให้ระยะเวลานอนโรงพยาบาลหลังการผ่าตัดสั้นลงเพียง 5-7วัน โดยเฉลี่ย

 4. ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
– ข้อสะโพกหลุดหลังการผ่าตัด
– ภาวะเส้นเลือด ดำที่ขาอุดตัน
– การติดเชื้อหลังผ่าตัด
– กระดูกหักจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

 5. เมื่อตัดสินใจจะผ่าตัด เรามีขั้นตอนการเตรียมผู้ป่วยดังนี้

การทำ Arthroplasty Passport เป็นการประเมินความพร้อมเมื่อผู้ป่วยและแพทย์ได้ตัดสินใจรักษาด้วยการเปลี่ยนข้อเทียม โดยรายละเอียดของการทำ Arthroplasty passport มีดังนี้
– ผู้ป่วยจะต้องได้รับแจ้ง ค่ารักษาในการผ่าตัด
– ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยต้องพบทันตกรรมประเมินสุขภาพในช่องปากและฟันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่มาจากช่องปากและฟัน
– ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายโดยอายุรแพทย์และวิสัญญีแพทย์ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอ๊กซเรย์ปอด และตรวจขึ้นไฟฟ้าหัวใจ อย่างน้อย 1 เดือนก่อนวันผ่าตัด เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายที่พร้อมในการผ่าตัด และมีความปลอดภัยมากที่สุด
– ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือด หรือ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือมีโรคประจำตัวใด ควรแจ้งแพทย์ก่อนการรักษา เพื่อประเมินความพร้อม และพิจารณาว่าจำเป็นต้องหยุดยาเหล่านี้ก่อนการผ่าตัดหรือไม่

 6. ผู้ป่วยสามารถเตรียมตัวก่อนผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมได้ด้วยตนเอง ดังนี้
1. เตรียมกล้ามเนื้อขาให้แข็งแรง
2. เตรียมบ้านและห้องน้ำให้ปลอดภัยและสะดวกต่อ การใช้งาน หลังการผ่าตัด

 7. การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
ผู้ป่วยสามารถลุกนั่ง ขยับขา และข้อเท้าได้ทันที เมื่อรู้สึกตัวหลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เส้นเลือดดำบริเวณขา ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะนี้ อาจได้รับยาละลายลิ่มเลือดชนิดฉีดหรือรับประทาน นาน 2-3 สัปดาห์
หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ถ้าเลือกวิธีปิดแผลด้วยกาวกันน้ำ สำหรับผู้ป่วยอื่นๆ ทั่วไป ต้องดูแลแผลผ่าตัดให้แห้ง และห้ามโดนน้ำประมาณ 10 ถึง 14 วันหลังผ่าตัด ไม่แนะนำให้แช่ในอ่างอาบน้ำ หรือว่ายน้ำในหนึ่งเดือนแรกของการผ่าตัด
โดยส่วนใหญ่หลังการผ่าตัดสามารถลงน้ำหนักได้ทันที ร่วมกับการใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน ในช่วง 4 สัปดาห์แรก โดยเริ่มจากอุปกรณ์ช่วยเดินแบบสี่ขา เพื่อความมั่นคงขณะเดินและลดอาการปวดจากการลงน้ำหนักที่ขา เมื่อผู้ป่วยสามารถลงน้ำหนักได้มากขึ้นอาจพิจารณาเปลี่ยนอุปกรณ์ช่วยเดินเป็นไม้คำยัน และไม้เท้า อย่างไรก็ตามการลงน้ำหนักและการเดินขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทีมแพทย์ผู้ผ่าตัด
ในช่วงสามเดือนแรกหลังการผ่าตัดผู้ป่วยต้องระมัดระวังการหลุดข้อสะโพกเทียม โดยหลีกเลี่ยงท่าทาง และ กิจกรรมบางประเภทที่เพิ่มความเสี่ยงข้อสะโพกหลุดหลังผ่าตัด ดังนั้นแพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัด จะให้คำแนะนำ และสอนผู้ป่วย ให้มีความมั่นใจและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องก่อนออกโรงพยาบาล
หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ผู้ป่วยควรได้รับยาปฏิชีวนะก่อนทำหัตถการทางการแพทย์ เช่นการส่องกล้องหรือการใส่สายสวนทางระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร หรือระบบทางเดินปัสสาวะ และ ก่อนทำฟัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อในข้อสะโพกเทียม 
ระยะเวลานานเท่าไหร่หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมที่สามารถขับรถได้อย่างปลอดภัยนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ผู้ผ่าตัด พยาบาล และนักกายภาพบำบัด เพื่อประเมินก่อนเสมอ โดยทั่วไปหลังผ่าตัด 2-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยสามารถขับรถยนต์ได้