การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Knee Arthroplasty)

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Knee Arthroplasty)

ผศ.ดร.นพ. สักกาเดช ลิ้มมหาคุณ
ภาควิชา ออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 1. ปัญหาโรคข้อเข่าเสื่อม (Knee osteoarthritis)
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นภาวะที่กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายอันเนื่องมาจาก ความชรา, การบาดเจ็บในข้อเข่า, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือ สาเหตุอื่น ๆ ทำให้เกิดการอักเสบของผนังหุ้มข้อ และส่งผลให้ข้อเข่าบวมและปวด เมื่อผิวข้อถูกทำลายไปมากขึ้น ส่งผลให้มีการผิดรูปที่ข้อเข่า จำกัดพิสัยการเหยียดงอข้อเข่า และเดินผิดรูป

         โรคข้อเข่าเสื่อมมักพบในผู้หญิงตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป น้ำหนักตัวที่มากเกินไป พฤติกรรมการใช้ข้อเข่าที่ผิด (ได้แก่ การนั่งยอง ๆ ) เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นำไปสู่การเสื่อมของผิวข้อที่มากขึ้น โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายกลับมาเป็นปกติ ดังนั้นการรักษาหลัก คือ การชะลอความเสื่อมของผิวข้อให้นานที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายที่มีความผิดรูปของข้อเข่าไปมาก การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมเป็นการรักษาที่ได้ผลดีอย่างมาก

 2. อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม
อาการแสดงเริ่มแรกเมื่อมีปัญหาข้อเข่าเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการขัด ตึง บริเวณรอบ ๆ เข่า โดยเฉพาะเวลาเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นยืนหรือเดิน เมื่อมีการอักเสบที่ข้อเข่าขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดในข้อเมื่อลงน้ำหนักขาข้างนั้น จนเป็นสาเหตุที่มาพบแพทย์

         เมื่อผิวข้อสึกเสื่อมไปมากขึ้น จะเริ่มสังเกตเห็นเข่าผิดรูป ไม่ว่าจะเป็นเข่าโก่ง หรือเข่าฉิ่ง ร่างกายสร้างกระดูกงอกขึ้นซึ่งไปเสียดสีกับเส้นเอ็นโดยรอบเข่า ส่งผลให้เกิดการอักเสบและปวดมากขึ้น นอกจากนี้การหดเกร็งของเส้นเอ็น และ กระดูกงอกที่สร้างขึ้นโดยรอบเข่า ไปจำกัดพิสัยการงอ หรือเหยียดเข่า ทำให้ส่งผลต่อความสามารถในการใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถ นั่งเก้าอี้ต่ำ, นั่งขัดสมาธิ, ขึ้นลงบันได หรือ นั่งบนพื้นได้

         เมื่อมาตรวจที่คลินิกโรคข้อเสื่อม และ ข้อเทียม ท่านจะได้รับการซักประวัติอาการเจ็บป่วยและการตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากแพทย์สงสัยความผิดปกติที่ข้อเข่า แพทย์จะทำการส่งตรวจเอกซเรย์, การสแกนด้วยคอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ตามหลักมาตรฐานสากล เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แม่นยำ หากอาการข้อเข่าเสื่อมอยู่ในระยะเริ่มต้น ยังไม่พบความผิดรูปมาก แพทย์จะให้การรักษาด้วยยา และแนะนำการออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า แต่สำหรับผู้ป่วยที่ข้อเข่าเสื่อมระยะท้าย หรือมีความผิดรูปมาก ผู้ป่วยอาจมีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

  3. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Knee Arthroplasty)
ในกรณีที่โรคข้อเข่าเสื่อมขั้นรุนแรง หรือ ผ่านการรักษาด้วยยา ร่วมกับการทำกายบริหาร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แล้วอาการไม่ดีขึ้น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพื่อลดอาการปวด เพิ่มพิสัยการขยับของข้อ และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

         จากการศึกษาการผ่าตัดข้อเข่าเทียม ได้ผลดีเยี่ยม โดยมีอายุการใช้งาน 10 ปี และ 15 ปี มากกว่า 90% วัสดุของผิวข้อเข่าเทียม ผลิตมาจากโลหะและโพลิเมอร์ ที่แข็งแรงและปลอดภัยต่อร่างกาย และได้มาตรฐานการรับรองสากล จากประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA) ผิวข้อเข่าเทียมยึดติดกับกระดูกด้วย ซีเมนต์ (Bone cement) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงในการยึดเกาะระหว่างผิวข้อโลหะกับกระดูก ปัจจุบันมีข้อเข่าเทียมหลายประเภทให้เลือกใช้ ขึ้นอยู่กับ ดุลยพินิจของแพทย์ ความต้องการของผู้ป่วย และ งบประมาณค่าใช้จ่าย 
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในปัจจุบันไม่น่ากลัวอีกต่อไป เนื่องจากการให้ยาลดอาการปวดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นร่วมกับเทคนิคการผ่าตัดสมัยใหม่ ทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น และโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยเดินได้ทันทีภายในหนึ่งวันหลังผ่าตัดถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ทำให้ระยะเวลานอนโรงพยาบาลหลังการผ่าตัดสั้นลงเพียง 5-7วัน โดยเฉลี่ย

  4. ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
– ภาวะเส้นเลือด ดำที่ขาอุดตัน
– การติดเชื้อหลังผ่าตัด
– กระดูกหักจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

  5. เมื่อตัดสินใจจะผ่าตัด เรามีขั้นตอนการเตรียมผู้ป่วยดังนี้

  การทำ Arthroplasty Passport เป็นการประเมินความพร้อมเมื่อผู้ป่วยและแพทย์ได้ตัดสินใจรักษาด้วยการเปลี่ยนข้อเทียม โดยรายละเอียดของการทำ Arthroplasty passport มีดังนี้
– ผู้ป่วยจะต้องได้รับแจ้ง ค่ารักษาในการผ่าตัด
– ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยต้องพบทันตกรรมประเมินสุขภาพในช่องปากและฟันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่มาจากช่องปากและฟัน
– ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายโดยอายุรแพทย์และวิสัญญีแพทย์ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอ๊กซเรย์ปอด และตรวจขึ้นไฟฟ้าหัวใจ อย่างน้อย 1 เดือนก่อนวันผ่าตัด เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายที่พร้อมในการผ่าตัด และมีความปลอดภัยมากที่สุด
– ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือด หรือ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือมีโรคประจำตัวใด ควรแจ้งแพทย์ก่อนการรักษา เพื่อประเมินความพร้อม และพิจารณาว่าจำเป็นต้องหยุดยาเหล่านี้ก่อนการผ่าตัดหรือไม่

  6. ผู้ป่วยสามารถเตรียมตัวก่อนผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้ด้วยตนเอง ดังนี้
1. เตรียมกล้ามเนื้อขารอบเข่าให้แข็งแรง
2. เตรียมบ้านและห้องน้ำให้ปลอดภัยและสะดวกต่อ การใช้งาน หลังการผ่าตัด

  7. การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
ผู้ป่วยสามารถลุกนั่ง ขยับขา และข้อเท้าได้ทันที เมื่อรู้สึกตัวหลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เส้นเลือดดำบริเวณขา ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะนี้ อาจได้รับยาละลายลิ่มเลือดชนิดฉีดหรือรับประทาน นาน 2-3 สัปดาห์
โดยทั่วไปหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยควรจะงอเข่าได้อย่างน้อย 90 องศา และเหยียดได้เกือบสุด ถึงจะอนุญาตให้กลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้านได้ หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ถ้าเลือกวิธีปิดแผลด้วยกาวกันน้ำ สำหรับผู้ป่วยอื่น ๆ ทั่วไป ต้องดูแลแผลผ่าตัดให้แห้ง และห้ามโดนน้ำประมาณ 10 ถึง 14 วันหลังผ่าตัด ไม่แนะนำให้แช่ในอ่างอาบน้ำ หรือว่ายน้ำในหนึ่งเดือนแรกของการผ่าตัด
โดยส่วนใหญ่หลังการผ่าตัดสามารถลงน้ำหนักได้ทันที ร่วมกับการใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน ในช่วง 4 สัปดาห์แรก โดยเริ่มจากอุปกรณ์ช่วยเดินแบบสี่ขา เพื่อความมั่นคงขณะเดินและลดอาการปวดจากการลงน้ำหนักที่ขา เมื่อผู้ป่วยสามารถลงน้ำหนักได้มากขึ้นอาจพิจารณาเปลี่ยนอุปกรณ์ช่วยเดินเป็นไม้คำยัน และไม้เท้า อย่างไรก็ตามการลงน้ำหนักและการเดินขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทีมแพทย์ผู้ผ่าตัด
ในช่วงสามเดือนแรกหลังการผ่าตัดผู้ป่วยต้องทำกายภาพด้วยตัวเองเป็นหลัก หรือมีนักกายภาพช่วยเพื่อเพิ่มพิสัยการเหยียด และงอเข่า และป้องกันพังผืดยึดเกาะในข้อเข่า อาการบวมที่เข่าอาจคงอยู่นาน ถึง 3 เดือนเป็นต้นไป การประคบเย็นบริเวณเข่าข้องที่ผ่าตัดจะช่วยลดอาการปวด บวม ที่เกิดจากการผ่าตัด และการกายภาพได้ เมื่อมีอาการปวด หรือไม่มั่นใจ ให้ปรึกษา แพทย์ พยาบาล หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อให้คำแนะนำ และตรวจภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
ปัจจุบันรูปทรงข้อเข่าเทียมสามารถงอได้ประมาณ 100 -145 องศา ขึ้นกับความสมบูรณ์ของข้อเข่าแต่ละคน อย่างไรก็ตามการงอเข่ามากเกินไป จะเพิ่มแรงกดต่อผิวข้อเทียม และอาจส่งผลให้ผิวข้อเทียมสึกได้เร็วกว่าปกติ ดังนั้น หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม แพทย์ยังแนะนำให้ผู้ป่วยนั่งเก้าอี้ แทนการนั่งยอง ๆ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมและท่าทางที่มีการงอเข่ามากผิดปกติ
หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ผู้ป่วยควรได้รับยาปฏิชีวนะก่อนทำหัตถการทางการแพทย์ เช่นการส่องกล้องหรือการใส่สายสวนทางระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร หรือระบบทางเดินปัสสาวะ และ ก่อนทำฟัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อในข้อเข่าเทียม เมื่อมีอาการปวดเข่า เข่าบวม แดง มีไข้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อ เฝ้าระวังการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นในข้อเข่าเทียม