คณะแพทยศาสตร์ มช. รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ประจำปี 2562 ยกระดับสู่สากล พร้อมลุยหน้า พัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรชั้นนำที่มีความเป็นเลิศ

คณะแพทยศาสตร์ มช. รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ประจำปี 2562

ยกระดับสู่สากล พร้อมลุยหน้า พัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรชั้นนำที่มีความเป็นเลิศ

           คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ประจำปี 2562       ( Thailand Quality Class : TQC 2019 ) รางวัลอันทรงเกียรติที่แสดงถึงการบริหารองค์กรที่เป็นเลิศ โดยสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม ในพิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ประจำปี 2562 : Thailand Quality Award (TQA ) 2019 โดยได้รับเกียรติจาก คุณกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานในพิธีมอบโล่รางวัล แด่ ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดี และบุคคลากรคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563      ณ ศูนย์นิทรรศการ และการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ

         ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ TQA ว่าดำเนินการโดย สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ การสนับสนุนของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับการแข่งขันของประเทศไทย ในทุกภาคส่วน ให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยมอบรางวัลให้องค์กร ทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่มีผลการดำเนินการที่เป็นเลิศ ซึ่งเกณฑ์นี้มีต้นแบบมาจาก รางวัล Malcom Baldrige National Award ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดของประเทศ ถึงแม้จะเรียกว่า เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติก็ตาม แต่ความจริงคือแนวทางในการบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จ โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ การพัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบ และมุ่งเน้นลูกค้า ผู้รับบริการขององค์กร ประเทศไทย ได้นำเกณฑ์นี้เข้ามา ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 18 การนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ มาใช้ในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น คณะแพทยศาสตร์ มีวิสัยทัศน์ การเป็นโรงเรียนแพทย์ชั้นนำ มาตรฐานสากล และพันธกิจที่สำคัญ 3 ด้าน คือการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ การสร้างสรรค์ผลงานวิจัยชี้นำสังคม และการให้บริการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ และพันธกิจ คณะแพทยศาสตร์ จึงมองหาเครื่องมือที่ช่วยในการขับเคลื่อนองค์กร      เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ เป็นเกณฑ์ที่เหมาะสม มุ่งเน้นให้เราทบทวนตัวเอง ถามตนเองอยู่เสมอ ว่าเราส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้า คือ ผู้เรียน ผู้ป่วยและผู้รับบริการ ได้ดีที่สุดหรือยัง เรามีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้ดีกว่านี้อีกหรือไม่    เกณฑ์มุ่งเน้นพัฒนาอย่างต่อเนื่องและครอบคลุม ทำให้ตัดสินใจนำมาใช้ในการบริหารทั่วทั้งองค์กร

          การนำแนวทาง TQA มาใช้ในคณะแพทยศาสตร์นั้น ส่งผลให้คณะแพทยศาสตร์พัฒนาอย่างก้าวกระโดด การดำเนินการต่าง ๆ ที่สำคัญ มีผลการดำเนินการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จาก ยกตัวอย่าง การพัฒนาสังคมและชุมชน ผ่านการจัดตั้งโรงพยาบาลสงฆ์ การพัฒนาแผนกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศระดับสากล พัฒนาหลักสูตรนานาชาติ จำนวนมาก ดึงดูดผู้เรียนจากต่างประเทศ ทบทวนผลการดำเนินการต่อเนื่อง ทำให้พัฒนางานวิจัยได้อย่างดี มีเครือข่ายทุนวิจัย และเครือข่ายโครงการวิจัยกับต่างประเทศจำนวนมาก           และที่สำคัญ เรามุ่งเน้นผู้เรียน และผู้รับบริการ ทำให้การดำเนินการในทุกพันธกิจของเราได้รับมาตรฐานระดับสากล WFME AHA SIDCER-FERCAP

       ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ มช. มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นไปที่การส่งมอบคุณค่า ส่งมอบหลักสูตรและการบริการที่ดีที่สุดไปยังผู้เรียน ผู้ป่วย และผู้รับบริการ อีกทั้งการให้ความสำคัญกับชุมชน สังคม และบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ จึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาคณะฯ จนได้รับรางวัลนี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือการมีทิศทางการบริหารองค์กรที่ชัดเจน มีแผนที่ หรือแผนกลยุทธ์ IWISH ของคณะแพทยศาสตร์ ที่เป็นเครื่องนำทางให้องค์กรของเราบรรลุวิสัยทัศน์ และการที่เรามุ่งเน้นการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ เป็นแรงผลักดันให้คณะแพทยศาสตร์ของเราจำเป็นต้องพัฒนาแบบก้าวกระโดด

รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ  (TQC : Thailand Quality Class) เป็นรางวัลที่แสดงถึง องค์กรนั้น มีการบริหารองค์กรอย่างเป็นเลิศ พัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรชั้นนำที่มีความเป็นเลิศการที่คณะแพทยศาสตร์ ได้รับรางวัล TQC อันทรงเกียรตินี้ เป็นความภาคภูมิใจอย่างสูงสุดขององค์กร พวกเราทุกคนรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ทั้งกับองค์กรของเราเอง คือคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพี่น้องชาวเชียงใหม่และภาคเหนือทุกคน ที่คณะแพทยศาสตร์ที่รับใช้ดูแลพวกท่านมาตลอด มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจนได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้

          ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในครั้งนี้ คือ ความมุ่งมั่น ทุ่มเท ของบุคลากรคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือคนสวนดอก ที่มีความตั้งใจพัฒนาคุณภาพการทำงานของตนเองอย่างต่อเนื่อง     มีผู้เรียน ผู้ป่วยและผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง มีความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อช่วยกันผลักดันคณะแพทยศาสตร์ให้บรรลุเป้าหมาย

******************************************************